“คมนาคม” เบรกรถโดยสารสาธารณะขึ้นค่าโดยสารหวั่นซ้ำเติมประชาชน ชงแผนอุดหนุนดีเซล 2 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ขนส่งทางบกเป็นเงินกว่า 3.6 พันล้านบาท ทางเรือกว่า 2.3 ล้านบาท ด้าน ขสมก.ชงขอรัฐช่วย PSO รถแอร์ด้วย ชี้ขาดทุนหลังแอ่น ส่วนสายการบินขอยืดลดภาษีเครื่องบินถึงสิ้นปี 65 ลดภาษีประจำปีให้วิน จยย.และแท็กซี่ 90%
วันที่ 12 พ.ค. 2565 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมันซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมเจ้าท่า (จท.) การรถไฟแห่งประเทศไทย
(รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เป็นต้น เพื่อพิจารณาแนวทางมาตรการที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ให้ตรงต่อความต้องการ เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานกลางพิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป
นายสรพงศ์กล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการขนส่งในแต่ละประเภทที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และขอรับการอุดหนุนค่าน้ำมันดีเซลให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง ได้แก่ คมนาคมทางบก
กลุ่มรถบรรทุกไม่ประจำทาง (70) ที่จดทะเบียนมีจำนวน 388,620 คัน มีจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 36,072 ราย โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 240,000 คัน (62% ของรถทั้งหมด) ใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 120 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,592 ล้านบาท
กลุ่มรถโดยสารสาธารณะประจำทางขนส่งผู้โดยสาร ทั้งรถ ขสมก. รถ บขส. และรถร่วมเอกชนทั้งหมดที่จดทะเบียนทั่วประเทศมีจำนวน 62,491 คัน โดยมีใบอนุญาตจำนวน 2,869 ใบ โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 50,947 คัน (85% ของรถทั้งหมด) มีการใช้น้ำมันดีเซลที่ปริมาณ 42,842 ลิตรต่อวัน เฉลี่ย 142 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท
สรุปการเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมันดีเซล 2 บาท/ลิตร ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 3,607 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการขนส่งสินค้า 2,592 ล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1,015 ล้านบาท
ส่วนผู้ประกอบการรถสาธารณะประมาณ 170,000 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์รรับจ้างจำนวน 111,552 คัน รถรับจ้างสามล้อจำนวน 10,472 คัน รถรับจ้างแท็กซี่จำนวน 66,462 คัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงและจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสนอขอปรับลดภาษีประจำปี 90% เพื่อช่วยเหลือ โดยต้องดำเนินการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการลดภาษีในรอบปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต่อไป
คมนาคมทางน้ำ ได้แก่ เรือโดยสารคลองแสนแสบ ปัจจุบันให้บริการ 164 เที่ยวต่อวัน, เรือด่วนเจ้าพระยา ให้บริการจำนวน 62 เที่ยวต่อวัน, เรือข้ามฟาก ให้บริการ 979 เที่ยวต่อวัน โดยถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยกรมเจ้าท่ายังคงตรึงราคาค่าโดยสาร ขณะเดียวกันจะเสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากกระทรวงพลังงานให้กับผู้ประกอบการเรือโดยสาร คิดเป็นจำนวน 13,328 ลิตร/วัน สนับสนุนลิตรละ 2 บาท เป็นเงินรวม 26,656 บาท/วัน รวมทั้งสิ้น 2,399,040 บาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน รวมทั้งจะเสนอขอขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงเดือนธันวาคม
2565
สำหรับมาตรการที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการคือ การเสนอออกประกาศกระทรวงคมนาคมและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนเรือพลังงานน้ำมัน โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียมเพียงกึ่งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565
สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการบริการผู้โดยสารได้รับเงินอุดหนุนเชิงสังคมสำหรับบริการสาธารณะ (PSO) อยู่แล้ว โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซลที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่ง โดยจะตรึงอัตราเฉลี่ยที่ 29.76-30.00 บาท/ลิตร
(ไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจริง) ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อเดือนลดลง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางราง
ขณะที่ ขสมก.ได้รับการอุดหนุน PSO สำหรับรถร้อน แต่พบว่าปัจจุบันรถปรับอากาศมีผลขาดทุนอย่างมากจึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการขอรับการอุดหนุน PSO จากรัฐเหมือนรถร้อนเพื่อลดภาระจากการให้บริการ ซึ่งได้ให้ ขสมก.ทำรายละเอียดข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
“กระทรวงคมนาคมจะยังไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะในช่วงนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และเห็นว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังเป็นอัตราที่ไม่แน่นอนควรรออีกสักระยะ ขณะที่ บขส. การรถไฟฯ ใช้น้ำมันในปริมาณมาก การจัดซื้อล็อตใหญ่ทำให้รับราคาที่ต่ำกว่าหน้าปั๊มประมาณ 1 บาทต่อลิตร จึงประเมินว่ายังจะสามารถตรึงค่าโดยสารไปได้อีก ส่วนผู้ประกอบการเอกชนเนื่องจากไม่ได้รับส่วนลดดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ เช่น การขยายเวลาต่อสัญญา หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมกรณีใช้รถหรือเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนมาตรการที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงคมนาคมจะนำหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายสรพงศ์กล่าว
สำหรับด้านคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยกำหนดอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือวันที่ 1 ม.ค. 2565-30 มิ.ย. 2565 ซึ่งทางผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศได้ขอให้ขยายมาตรการออกไปถึงสิ้นปี 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลังเนื่องจากการลดภาษีสรรพาสามิตไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงคมนาคม
@"เจ๊เกียว" มาตามนัด ยื่น "ขบ." ขอขึ้นค่าโดยสาร
ขณะที่ในวันเดียวกัน (12 พ.ค. 2565) นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมรถโดยสาร บขส. และเจ้าของอู่รถเชิดชัยและบริษัท เดินรถเชิดชัยทัวร์ จำกัด ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขอให้ขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันที่ขึ้นมา 32 บาทต่อลิตร โดยขอปรับค่าโดยสารขึ้น 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อราคาน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อลิตร พร้อมทั้งขอให้ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าประกันภัย ค่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมเที่ยววิ่ง (ค่าขา) กรณีไม่ได้วิ่งรถ
นางสุจินดากล่าวว่า ปัจจุบันค่าน้ำมันคิดเป็นต้นทุนสูงถึง 60% แต่ค่าโดยสารที่ใช้ในปัจจุบันคิดจากราคาน้ำมันที่ 27 บาท 79 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นการคำนวณจากอัตราเดิมเมื่อปี 2562 และค่าโดยสารไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 โดยรถ 1 คันจะคุ้มทุนต้องมีผู้โดยสารอย่างน้อย 16 ที่นั่ง แต่จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงและผู้โดยสารเปลี่ยนพฤติกรรมเดินทาง ซึ่งหากกรมการขนส่งทางบกไม่ยอมปรับขึ้นราคาให้ก็ขอให้ติดตามต่อว่าแต่ละบริษัทจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละบริษัทที่ได้รับผลกระทบมีแผนดำเนินการที่ต่างกัน
"ดิฉันมีแผนว่าการประกาศขายรถ 300 คัน วิ่งในทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกพร้อมยืนยันว่าเป็นหน้าที่ราชการจะต้องหาเหตุผลเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ให้ได้ เพราะขณะนี้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้นและเงินหายาก หากไม่ช่วยเหลือก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการ" นางสุจินดากล่าว