xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.ยันเดินหน้าจ้างเหมาเอกชนวิ่งรถเมล์ไฟฟ้า 400 คัน ลุยประมูล พ.ค.นี้-มั่นใจลดค่าใช้จ่ายขาดทุนลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.ขสมก.แจงเดินหน้าจ้างเหมาเอกชนวิ่งรถเมล์ไฟฟ้า 400 คัน รอตั้งผู้สังเกตการณ์ร่วมร่างทีโออาร์ ประมูลพ.ค. นำร่อง 224 คัน วิ่งบริการ ต.ค. 65 ชี้จ่ายค่าจ้างตามระยะทาง ช่วยลดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิง เหมาซ่อม คนขับ และไม่ใช่การร่วมทุน

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ชี้แจงถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ยื่นหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขอให้เร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 มิ.ย. 62 ที่ได้เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งจะมีการดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่ และคัดค้านการจ้างเหมาบริการรถเอกชน

นายกิตติกานต์กล่าวว่า ขสมก.จะต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการให้บริการ เนื่องจากรถโดยสารมีสภาพเก่า อายุมากกว่า 30 ปี จำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนสะสม และรถส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ก่อมลพิษและ PM 2.5 โดยในขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้นในระหว่างรอการอนุมัติแผนฟื้นฟู ขสมก.จำเป็นต้องแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะการจัดหารถโดยสารใหม่มาให้บริการตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ที่เป็นสิทธิ์ของขสมก. จำนวน 107 เส้นทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้กำหนดเงื่อนไขใบอนุญาต ว่าจะต้องบรรจุรถโดยสารใหม่ไม่น้อยกว่า 30% ภายในเวลา 1 ปีหลังได้รับใบอนุญาต โดยที่ผ่านมา ขสมก.ได้บรรจุรถตามเงื่อนไขแล้ว 9 เส้นทาง ขณะนี้เหลือ 88 เส้นทางที่อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาต ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในการบรรจุรถ

ทั้งนี้ ระหว่างรอแผนฟื้นฟู ขสมก. ขสมก.จำเป็นที่จะต้องจัดหารถใหม่ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น 2 ปี โดยจากการพิจารณาความเหมาะสมการจัดหารถใหม่ โดยมีเป้าหมายสูงสุดนอกจากยกระดับการให้บริการแล้ว จะต้องไม่ลงทุนเพิ่ม ไม่เป็นภาระงบประมาณ ไม่กู้เงิน และลดขาดทุน ซึ่งรูปแบบการซื้อ การเช่า มีขั้นตอนการพิจารณา อนุมัติ รวมไปถึงการขอจัดสรรงบประมาณ การดำเนินงานใช้ระยะเวลานาน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการบรรจุรถในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตไม่ทันตามกำหนด และอาจทำให้ ขสมก.เสียสิทธิ์ในการเป็นผู้ประกอบการในเส้นทางนั้นได้

ขณะที่รูปแบบการจ้างเหมาบริการจากเอกชน ขสมก.จ่ายค่าจ้างคิดเป็นกิโลเมตร จึงไม่เข้าข่ายการให้เอกชนร่วมลงทุน มีความเหมาะสม โดยจะใช้งบดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ รายได้จากค่าโดยสาร ส่วนต่างจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกับพลังงานสะอาด และค่าเหมาซ่อม โดยเป็นการจ้างให้เอกชนจัดหารถ พร้อมพนักงานขับรถ ขณะที่ ขสมก.จะบริหารจัดการ ควบคุม กำกับดูแล ความถี่การปล่อยรถ เป็นหน้าที่ของ 8 เขตการเดินรถเหมือนเดิม

โดยจะดำเนินการจ้างเหมาบริการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 400 คัน ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.พิจารณาเห็นชอบแล้วเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ซึ่งคำนึงถึงความโปร่งใส โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยรอกรมบัญชีกลางส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ และจะเชิญสหภาพฯ ขสมก.ร่วมสังเกตการณ์ในการจัดทำร่างทีโออาร์ด้วย คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ในเดือน พ.ค.นี้ และสามารถจัดหารถได้ในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2565

“จะเปิดรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์จากทุกภาคส่วน รวมถึงเอกชนด้วยว่ามีความสนใจอย่างไร โดยช่วงแรกจะจ้างเหมาบริการจำนวน 224 คัน และประเมินผล จากนั้นจะเร่งดำเนินการ ระยะที่ 2 จะให้บริการอีก 176 คัน โดยจะบรรจุรถในเส้นทางที่เหมาะสม เป็นย่านชุมชนเมือง เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งล้อ ราง เรือ”

ส่วนกรณีที่สหภาพฯ ขสมก.ตั้งข้อสังเกตว่าการจ้างเหมาบริการให้เอกชนเดินรถ คันละ 6,000 กว่าบาทต่อวันสูงเกินกว่าความเป็นจริงนั้น นายกิตติกานต์กล่าวว่า พิจารณาต้นทุนจริงของ ขสมก. กรณีรถเมล์ธรรมดา (ครีมแดง) มีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนสูงกว่า 6,000 บาท ต่อคันต่อวัน ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง คิดน้ำมันดีเซล ที่ลิตรละ 28-30 บาท ประมาณ 2,600 บาทต่อ กม. ค่าเหมาซ่อมเฉลี่ย 1,400 บาทต่อคัน ค่าจ้างบุคลากร คนขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร 3,000 บาทต่อคัน

ขณะที่กรณีจ้างเหมาบริการมีต้นทุนถูกกว่า คิดเฉพาะต้นทุนน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร คิดต่อ กม.จะอยู่ที่ 14-15 บาท เทียบกับรถเมล์ไฟฟ้า มีต้นทุนค่าพลังงาน ที่ 3.50 บาทต่อ กม.เท่านั้น ส่วนค่าจ้างวิ่งนั้นมาจาก 3 ส่วน คือ รายได้ค่าโดยสาร และส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงที่ลดลง และค่าเหมาซ่อม ประเมินว่าจะเพียงพอต่อค่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารด้วย เชื่อว่าจะทำให้ขาดทุนน้อยลง นอกจากนี้ เอกชนยังต้องรับเรื่องการซ่อมบำรุงและจัดหาพนักงานขับรถ ทำให้ ขสมก.หมดภาระต้นทุนค่าเหมาซ่อม โดยหากไม่สามารถดำเนินการได้จะมีค่าปรับตามเงื่อนไขในสัญญา

ปัจจุบัน ขสมก.มีภาระค่าเหมาซ่อมประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี ภาระค่าเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ค่าเชื้อเพลิง ก๊าซ NGV ประมาณ 512 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร 1,500 ล้านบาทต่อปี โดยมีต้นทุนเฉลี่ยในการเดินรถประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีหนี้สะสมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO ) ในปี 2564 จำนวน 2,130 ล้านบาท

“ปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงานขับรถเกือบ 10,000 คนแต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งการจ้างบริการเหมาทั้งรถและคนขับจะเป็นการแก้ปัญหาและไม่กระทบต่อพนักงาน ขสมก. และหากยังไม่มีระบบ E-Ticket ยังต้องใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก.”

สำหรับค่าโดยสาร 30 บาทแบบเหมาทั้งวันนั้นเป็นอัตราที่อยู่ในแผนฟื้นฟู ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติ ดังนั้น ในการดำเนินการรถใหม่ที่จ้างบริการนี้ จะเป็นปรับอากาศที่เก็บค่าโดยสาร 15-20-25 บาท ตามระยะทาง และในเส้นทางที่มีรถร้อนครีมแดงให้บริการ หากมีรถปรับอากาศเข้าไปวิ่งทดแทน ขสมก.จะยังคงมีรถครีมแดง ให้บริการอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้กระทบประชาชน

ปัจจุบัน ขสมก.มีผู้โดยสารใช้บริการในวันธรรมดา ประมาณ 500,000-600,000 คน และในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 300,000-400,000 คน ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิด-19 มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 900,000 คน






กำลังโหลดความคิดเห็น