ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ รถ-เรือกระอัก เสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารหลังราคาน้ำมันดีเซลพุ่ง “ศักดิ์สยาม” สั่งทุกหน่วยเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ส่วนผ่อนผันเพิ่มน้ำหนักบรรทุก 58 ตันต้องพิจารณาข้อกฎหมาย ด้าน ขบ.เตรียมถกเอกชน 12 พ.ค.นี้
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้ผู้ประกอบการขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาช่วยเหลือ รวมถึงขอปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่มีการปรับสูงขึ้นอย่างมากด้วย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นนั้น ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณามาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่สามารถทำได้ เช่น การขยายเวลาการต่อใบอนุญาตออกไปครั้งละ 3 เดือน เป็นต้น
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกเสนอขอปรับเพิ่มน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกเป็นไม่เกิน 58 ตัน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในช่วงราคาน้ำมันแพงนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ มาตรการที่จะออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งในรูปแบบต่างๆ นั้น จะพยายามดำเนินการช่วยเหลือไป จนกว่าสถานการณ์โลกจะดีขึ้น
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ตามกฎหมายได้กำหนดน้ำหนักรถบรรทุกพ่วง 20 ล้อ 22 ล้อ และ 24 ล้อ ไม่เกิน 50.5 ตัน ซึ่งที่ผ่านมามีการเข้มงวดไม่มีการผ่อนผันให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกิน เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เคยมีการศึกษากรณีให้บรรทุกน้ำหนัก 58 ตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ถนนชำรุดเร็ว ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาทางเป็นแสนล้านบาท อีกทั้งจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดแก่โครงสร้างสะพานและทางลอด และการบรรทุกน้ำหนักเกินอาจมีผลต่อสมรรถนะของรถและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชนผู้ร่วมใช้เส้นทางอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะผ่อนผันให้บรรทุกน้ำหนัก 58 ตันจะต้องมีการศึกษารายละเอียดใหม่อย่างรอบคอบ ซึ่งอาจจะต้องกำหนดเส้นทางเฉพาะเจาะจงเพื่อกำหนดขอบเขตการควบคุมดูแล รวมถึงจำกัดเรื่องค่าซ่อมบำรุงเส้นทางได้ นอกจากนี้อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการจ่ายค่าบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อนำมาเป็นค่าซ่อมบำรุงเส้นทาง เป็นการลดภาระงบประมาณของประเทศอีกทาง
@ยังไม่พิจารณาเรือแสนแสบปรับราคา 1 บาท
ด้านการคมนาคมทางน้ำ ล่าสุดนายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) ผู้ให้บริการเดินเรือคลองแสนแสบ เปิดเผยว่า ได้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า (จท.) แจ้งปัญหาต้นทุนน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นแล้ว โดยจำเป็นต้องปรับราคา อีกอย่างน้อยระยะละ 1 บาท
โดยระบุว่า น้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในการให้บริการเรือโดยสารถึง 55% ยังไม่รวมต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับขึ้นลงตามตลาดโลกปัจจุบันมีเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นอีก ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องตัดสินใจเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และหามาตรการดูแลประชาชน แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่มีแนวทางดำเนินการใดๆ
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ขอให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารตรึงราคาไปก่อน ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่ปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังมีการพิจารณา ยืนยันว่าต้องดูแลให้อยู่ได้ ทั้งประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการ
@ขบ.เตรียมหารือรถโดยสารฯ หามาตรการเยียวยา
ด้านนายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า วันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารจะมีการประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่มีอำนาจปรับราคาค่าโดยสารตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูง อยากให้พิจารณาข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง เช่น การนำตารางคำนวณค่าโดยสารมาเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2549 ขณะนั้นอัตราค่าโดยสารตามขั้นบันได อยู่ที่ 54 สตางค์ต่อกิโลเมตร
ปัจจุบันราคาค่าโดยสารก็ยังอยู่ที่ 53 สตางค์ต่อกิโลเมตร ลดลงด้วยซ้ำ ทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการรถโดยสารจึงอยู่ไม่ได้ ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ มีประมาณ 40,000 คันทั่วประเทศ แต่หากสถานการณ์ต้นทุนพลังงานเป็นเช่นนี้ ก็จะมีผู้ประกอบการเจ๊ง ต้องจอดรถกว่า 10,000 คัน หรือ 1 ใน 4 เพราะหากรถอยู่ในระบบ ก็จะมีต้นทุนมากมาย รวมทั้งค่าประกันภัยแม้ว่ารถจะจอด รอวิ่งก็ต้องจ่าย"
ส่วนการปรับค่าโดยสาร ผู้ประกอบการไม่ได้กำหนดว่าต้องปรับขึ้นเท่าไร เพียงแต่ให้รัฐบาลเห็นใจช่วยเหลือ โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการวิ่งรถไม่ได้ เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จะไม่ยอมให้ภาครัฐปรับเงิน ค่าขา หรือค่าเที่ยววิ่ง กรณีที่ไม่สามารถวิ่งรถได้ขั้นต่ำตามสัญญา