“พาณิชย์” ยันจะตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด หลังน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ ยึดหลัก 3 ฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงประเด็นสถานการณ์ราคาสินค้าว่า เรื่องราคาสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน เรื่องนี้รัฐบาลได้ช่วยตรึงราคาในระยะเวลาหนึ่ง ตอนนี้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายที่จะต้องดำเนินการปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2565 จึงต้องรับความจริงว่าเมื่อมีการปรับราคาน้ำมัน จะมีผลกระทบต่อต้นทุนและค่าขนส่งสินค้า จะไปกระทบต่อราคาสินค้าที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ปลายทาง แต่เมื่อต้นทุนน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จะพยายามเข้าไปดูให้ดีที่สุด ให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ด้วยกัน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และบริโภค ซึ่งรายละเอียดในแต่ละรายการสินค้าจะมีความแตกต่างกันแต่ละประเภท
“ที่ต้องช่วยดูให้ดีที่สุด คือสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีอยู่ 18 รายการ จะพยายามช่วยยืดระยะเวลา อั้นให้ได้นานที่สุด แต่บางตัวก็จำเป็น กรมการค้าภายในช่วยดูลึกลงไปในรายละเอียด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องยอมรับว่าปาล์มน้ำมัน ผลปาล์มราคาสูงมาก และเกษตรกรพอใจมาก แต่ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จและอาหารสำเร็จรูป และผู้ผลิต มีผลกระทบ ซึ่งในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีน้ำมันอยู่ กรมการค้าภายในจะดูเป็นกรณีว่าสูงขึ้นมากเพียงใด ถ้าจะปรับ ต้องปรับแค่ไหน เท่าที่ผู้ประกอบการยังทำธุรกิจอยู่ได้และกระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด”
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้สินค้ารายการใดปรับขึ้นราคา และโดยเฉพาะ 18 รายการ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดูแลให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ได้ ในภาวะที่ต้องยอมรับว่าวิกฤตทั้งโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ร้านอาหารปิดตัวลง เรื่องนี้ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะโดยเฉพาะในช่วงที่ประสบภัยโควิด-19 หลายร้านปิดลง อาจไม่เฉพาะในเรื่องราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญ แต่มีปัจจัยโควิด-19 ที่ตลาด หรือผู้บริโภคในประเทศ นักท่องเที่ยวหายไป ถ้าเกิดเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ ก็จะมีส่วนในการช่วยต่อลมหายใจได้บางส่วน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ประสบภัยโควิด-19 ตนได้ช่วยร้านอาหารจัดโครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” เพื่อให้สามารถมีแหล่งเงินทุนและแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรนไปหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้หวังว่าถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็จะช่วยให้กิจการร้านอาหารในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และคิดว่าการท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่งนอกจากการส่งออก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่ากระทรวงพาณิชย์ทำงานหนักร่วมกับเอกชนในการทำให้การส่งออกขับเคลื่อนได้ และประสบความสำเร็จ โดยในปี 2564 นำเงินเข้าประเทศได้ถึง 8.5 ล้านล้านบาท เป็นบวกถึง 17.1% และปีนี้ 3 เดือนปี 2565 การส่งออกเป็นบวกถึง 20% นำเงินเข้าประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาทแล้ว ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ตนทุ่มเทการทำงานเต็มที่กับการนำเงินเข้าประเทศ โดยการส่งออกตั้งเป้าปีนี้ให้ได้ 9 ล้านล้านบาท จากปีที่แล้ว 8.5 ล้านล้านบาท และโครงการไทยเที่ยวไทยช่วยได้นิดหน่อย นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไม่ได้ แต่เมื่อเปิดประเทศ ก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น