xs
xsm
sm
md
lg

13 มาตรการเผชิญน้ำหลาก ภาพรวมการรองรับฤดูฝน 2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



      เมษายน 2565 แม้จะได้ชื่อเดือนสุดท้ายของฤดูร้อนและมีแดดร้อนเปรี้ยงที่สุด แต่ปีนี้ฝนมาเร็ว ตั้งแต่ต้นปีไล่กันมาจนถึงเมษายนก็ยังไม่เลิกตก กลายเป็นฤดูร้อนที่มีฝนคลอตลอดฤดู

      พฤษภาคม เป็นเดือนสตาร์ทของฤดูฝน ระยะหลังๆ กว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนได้ก็พ้นกลางเดือนย่างปลายเดือนไปแล้ว ปีนี้น่าจะร่นระยะเวลาขึ้นมาได้ต่อเนื่องกับฝนในฤดูร้อน

      แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างชัดเจน ไม่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นก็ผิดเพี้ยนสำแดงเช่นกัน

     ในฐานะหน่วยงานกลางบูรณาการงานทรัพยากรน้ำของประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงกำหนดมาตรการรับมือน้ำหลาก เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องซักซ้อมรับมือแต่เนิ่นๆ โดยกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ และตารางเวลาปฏิบัติกำกับในแต่ละมาตรการเอาไว้ด้วย นับว่าละเอียดรอบคอบ และหวังผลปฏิบัติ
      
     เดิมทีกำหนด 10 มาตรการ แต่ปี 2565 นี้ เพิ่มเป็น 13 มาตรการ ได้แก่
     1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนน้อยกว่าค่าปกติ 2.การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพี่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 10.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
อีก 3 ข้อที่เพิ่มเติมได้แก่

     11.ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ 12.จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ 13.ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย

      ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า มาตรการส่วนเพิ่มเป็นการทำให้การบริหารจัดการน้ำมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

       มาตรการตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ เป็นมาตรการที่ลงมือทำก่อน เพราะมีหลายหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบเครื่องมือป้องกันน้ำเหล่านี้ เช่น กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานานและต่างมาตรฐานกัน จึงต้องตรวจสอบและซ่อมแซมก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพราะบางแห่งพังทลาย บางแห่งมีลักษณะเป็นฟันหลอ น้ำหลากทะลักเข้าพื้นที่ได้

      ​“ต่อไป สทนช. จะออกมาตรฐานงานก่อสร้างคันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นต่างคนต่างมีมาตรฐานของตัวเอง”

      เช่นเดียวกัน การจัดตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าสำหรับเผชิญเหตุในพื้นที่ โดยมี สทนช. เป็นเจ้าภาพในการบูรณาการ มีรองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธาน หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. Gistda สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ฯลฯ เป็นคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำหลาก และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อให้หน่วยงานนำไปวางแผนเตรียมรับมือและเผชิญเหตุได้ทันการณ์

     ​“สทนช. จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพบูรณาการหน่วยงานเหล่านั้นในพื้นที่ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดีในการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาอุทกภัยจนผ่านพ้นได้”
​ดร.สุรสีห์กล่าวอีกว่า ในขณะเผชิญเหตุ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำหลาก ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก็ต้องวางแผนเตรียมสถานที่รับผู้อพยพ รวมถึงสัตว์เลี้ยง ข้าวของจำเป็นในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ต้องมีการซักซ้อมแผนอพยพ จำลองสถานการณ์ก่อน ดำเนินการภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยหน่วยงานหลักจะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

     ​“ต้องมีสถานที่รองรับการอพยพ เริ่มต้นภาคละ 1 แห่งก่อน ผมตั้งใจให้เป็นในลักษณะเหมือนต่างประเทศแทนการอพยพไปอยู่บนถนน กางเต้นท์ แต่ศูนย์อพยพของเราต้องดีกว่านั้น พื้นที่ชัดเจน มั่นคง ปลอดภัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับหนึ่ง” ดร.สุรสีห์กล่าว

      ​ภาพรวมของ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 จึงเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บความพร้อมรองรับปัญหาอุทกภัยไว้ค่อนข้างดีน่าจะเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
 
     ​ความสำเร็จคือการผนึกกำลังร่วมของทุกฝ่าย แก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ในยามเผชิญเหตุใหญ่อย่างอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี


กำลังโหลดความคิดเห็น