xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิมชัย” ลุยเมืองคอน เร่งกรมชลประทาน ติดตามการบริหารจัดการน้ำคลองท่าดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เฉลิมชัย” ลุยเมืองคอน เร่งกรมชลประทาน ติดตามการบริหารจัดการน้ำคลองท่าดี บรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่ในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง เพิ่มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (9 เม.ย.2565) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ วัดดินดอน ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คลองท่าดีเป็นคลองธรรมชาติที่มีความยาวประมาณ 38 กิโลเมตร มีแหล่งต้นน้ำจากเทือกเขาหลวงและตัดผ่านพื้นที่การเกษตรหลายแห่ง มีปริมาณน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำจำนวนมาก ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งทั้งสองฝั่งของคลองท่าดี ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเป็นแห่งๆ

กรมชลประทาน ได้ตรวจสอบสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาและตรวจสอบผลการคำนวณทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งคลองท่าดี บ้านวัดสมอ ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นอาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาว รวม 697 เมตร(ฝั่งซ้ายยาว 234 เมตร/ฝั่งขวายาว 463 เมตร) พร้อมก่อสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 1.50 เมตร ยาว 44 เมตร อีกโครงการเป็นโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งบ้านดินดอน ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา มีลักษณะเป็นอาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาว รวม 600 เมตร(ฝั่งซ้ายยาว 260 เมตร/ฝั่งขวายาว 340 เมตร สูง 4.50 เมตร) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขปัญหาการพังทลายจากกระแสน้ำกัดเซาะบริเวณแนวตลิ่งคลองท่าดี ในช่วงฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างมาก




พร้อมกันนี้ ได้วางแผนระยะยาวในการปรับปรุงสภาพคลองท่าดีทั้งระบบ เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง และทำให้น้ำอยู่ในลำห้วยได้นานขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสามารถดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ลดการตื้นเขินที่บริเวณปลายน้ำ ทำให้น้ำมีคุณภาพดีเหมาะแก่การอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น