ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA ) เปิดเผยถึงการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact Assessment: SIA เป็นการศึกษาถึงคุณค่าทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการดำเนินโครงการและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ระหว่างผู้ดำเนินโครงการและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยการติดตามตรวจสอบร่วมกันเกี่ยวกับผลการดำเนินการที่เกิดขึ้นแก่สังคมหลังจากการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผลด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมนอกจากจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ทราบถึงผลการดำเนินโครงการแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการที่ดำเนินการ
ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือที่เรียกว่า Social Return on Investment: SROI เป็นการวัดผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact ในด้านต่างๆ ที่ประเมินได้มาคำนวณหามูลค่าทางการเงิน หรือ Monetized Value แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนหรืองบประมาณที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ได้สร้างประโยชน์ในอัตราส่วนของผลกำไรต่อต้นทุนอย่างไร เช่น อัตราส่วน 1:2 แสดงว่าการลงทุน 1 บาท สามารถสร้างมูลค่าทางสังคมได้ 2 บาท โดยหลักของการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน จะต้องคำนึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการแสดงความ คิดเห็นร่วมกัน และการกำหนดขอบเขตและผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
GISTDA ดำเนินงานมากว่า 20 ปี สร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากมาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย GISTDA ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทยได้ทำการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆรวม 41 โครงการ/แผนงานในช่วงปีงบประมาณ 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการกำหนดแผนงานหรือโครงการในปีงบประมาณในอนาคต อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนองตอบประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งคุณค่า
ดร.ปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า การประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน มีขั้นตอนการดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการเลือกแบบเจาะจง เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของ GISTDA ในปีงบประมาณ 2563 โดยดำเนินการศึกษาจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น การวิเคราะห์แผนที่ผลลัพธ์ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า กิจกรรม ผลผลิต และหาข้อสรุปเป็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า Outcome หรือ Impact การวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ส่วนเกินโดยให้ค่าน้ำหนักการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ปัจจัยสนับสนุนอื่นที่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ และอัตราการลงหรือคงที่ของผลสัมฤทธิ์ แล้วหามูลค่าตัวแทนทางการเงินของผลลัพธ์ที่แท้จริงเพื่อคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI
สำหรับเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการประเมินมูลค่ารายโครงการ อาทิ การนำข้อมูล/เทคโนโลยี/วิธีการใหม่จาก GISTDA มาสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดความเสียหาย เพิ่มมูลค่าทางเศษฐกิจ การนำข้อมูลหรือเทคโนโลยีของ GISTDA มาใช้กับงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ GISTDA
ผลการศึกษาพบว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 32 โครงการและแผนงานสนับสนุน 9 แผนงาน มีมูลค่ารวมที่เกิดขึ้นเท่ากับ 3,086.50 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI เท่ากับ 1:1.50 หมายความว่า จำนวนเงินงประมาณการดำเนินงานโครงการของ GISTDA ที่ใช้งบประมาณไปทุกๆ 1 บาท จะเกิดผลตอบแทนกลับมาในรูปของมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมหรือสร้างประโยชน์ทางสังคมเป็นจำนวน 1.50 บาท แสดงให้เห็นว่าโครงการฯที่เกิดจาการลงทุนของ GISTDA ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้สร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่าผลการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โครงการและแผนงานต่างๆของ GISTDA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2559 มีมูลค่ารวมประมาณ 569.85 ล้านบาท ปี 2560 มีมูลค่ารวมประมาณ 2,528.55 ล้านบาท ปี 2561 มีมูลค่ารวมประมาณ 2,691.72 ล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่ารวมประมาณ 2,823.08 ล้านบาท จนมาถึงล่าสุด ปี 2563 มีมูลค่ารวมประมาณ 3,086.50 ล้านบาท โดยโครงการและแผนงานที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็น อันดับ 1 ได้แก่ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ตามด้วยด้านการจัดการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการผังเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารนสนเทศไปปรับใช้ในมิติต่างๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับสังคมไทยมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงการและแผนงานของ GISTDA ที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ประเมินความคุ้มค่าโครงการในปี 2564 บางโครงการโดยอ้างอิง CIPP Model ในการประเมินความสำเร็จของโครงการ ประกอบกับพิจารณาจากผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI และผลการประเมินความสำเร็จของโครงการในภาพรวม ได้แก่ โครงการระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2, โครงการพัฒนาระบบบริหารวิกฤตและการปฎิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าเชิงพื้นที่, และแผนการดำเนินงานโครงการสร้างคุณค่าจากระบบภูมิสารสนเทศแบบองค์รวม
ผลการศึกษาชี้ชัดว่าทั้ง 3 โครงการมีผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1:2.54 1:2.21 และ 1:6.42 ตามลำดับ นับได้ว่าทั้ง 3 โครงการมีความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นแล้วผลการประเมินโครงการในภาพรวมทั้ง 3 โครงการได้คะแนน 96 94 และ 92 คะแนนตามลำดับจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน
ดร.ปกรณ์ ระบุตัวเลขจากการประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรแห่งคุณค่าอย่างแท้จริงที่เกิดจากการทุ่มเทของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภายใน GISTDA และบุคลากรต่างๆที่เกี่ยวข้องจากภายนอกที่ร่วมกันผลักดันนำคุณค่าจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคมไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับจากนี้ไป GISTDA ยังคงจะมุ่งมั่นทำเพื่อคนไทยและทำเพื่อสังคมไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วยนวัตกรรมจากอวกาศและภูมิสารสนเทศ
GISTDA โชว์ผลงานด้านอวกาศ
ดร.ปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า GISTDA ถึงผลงานที่โดดเด่นในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 (ตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565 ภารกิจของ GISTDA ได้ดำเนินการ 2 ด้าน คือด้านอวกาศ และด้านภูมิสารสนเทศ เริ่มจากด้านอวกาศ กันก่อน GISTDA มีโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาดาวเทียมเล็กหรือที่เรียกว่า THEOS-2A สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมนักวิจัยของไทยที่ได้เข้าไปร่วมศึกษา ค้นคว้า และวิจัยร่วมกับทีมวิศวกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร รวมทั้งยังมีทีมสนับสนุนจาก GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพัฒนาจนสำเร็จ ซึ่งดาวเทียมเล็กนี้จะเป็นดาวเทียมดวงแรกที่อยู่ในระดับ Industrial Grade และกำลังจะเป็นก้าวที่สำคัญในวงการอวกาศของไทยต่อไป
นอกจากนี้ THEOS-2 ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อรองรับการดำเนินงานอย่างครบวงจรในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ space krenovation park อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นั่นคือศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ Assembly Integration and Test ที่เรียกสั้นๆ ว่า AIT ซึ่งจะรองรับการสร้างและทดสอบประกอบดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องที่มีขนาดตั้งแต่ 10 กิโลกรัม ไปจนถึง 500 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรด้านการสร้างดาวเทียม และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่และถ่ายทอดให้กับบุคคลต่างๆที่สนใจเพื่อเป็นการสร้างบุคลากรให้เป็นเทรนเนอร์ทางด้านนี้ต่อไป
ไม่เพียงแค่นั้น GISTDA ยังพัฒนาระบบ Software ที่มีชื่อว่า “เซอร์คอน” หรือ Zircon ซึ่งเป็นระบบโดยใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์การจัดการจราจรทางอวกาศ เพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุอวกาศ หลีกเลี่ยงการชนกันของวัตถุอวกาศ หรือแม้กระทั่งการดูวงโครจรของดาวเทียมหรืออุกาบาตที่จะมีผลกระทบต่อโลก ทำให้สามารถคาดการณ์ทิศทางของวัถตุเหล่านั้นได้ โดยระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากฝีมือนักวิจัยและวิศวกรของ GISTDA และที่ภูมิใจมากกว่านั้นคือระบบนี้ถูกออกแบบตรงตามมาตรฐานการแจ้งเตือนวัตถุอวกาศในระดับสากล ซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน ระบบนี้จะช่วยในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นระบบที่ใช้ข้อมูลเชิงตำแหน่งที่มีค่าความแม่นยำในระดับสูง
อีกหนึ่งผลงานที่อยากนำเสนอให้สังคมรับรู้รับทราบคือ GISTDA ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Committee on Earth Observation Satellite ที่เรียกสั้นๆว่า CEOS ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐของทุกประเทศที่ดำเนินงานในด้านของกิจการอวกาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการอวกาศที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจโลก หรือ Earth Observation ไม่ว่าเป็น NASA, ESA, JAXA หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนโยบายกิจการอวกาศ ด้านเทคนิค ด้านวิชาการ รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือกับนานาชาติ ซึ่งการดำรงตำแหน่งประธาน CEOS จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทวีปละ 1 ปี โดยปี 2566 จะเป็นทวีปเอเชีย และที่ประชุม CEOS มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นประธาน CEOS โดยมี GISTDA เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ประเทศไทย โดย GISTDA ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ส่วนภารกิจอีกด้านที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน และถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานเนื่องจากเป็นส่วนของการนำไปประยุกต์ใช้ นั่นก็คือ ด้านภูมิสารสนเทศ โดย GISTDA มีนโยบาย GI FOR ALL ที่จะมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และระบบที่เรามีอยู่จะต้องเข้าถึงประชาชนได้และใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง หรือผู้บริหารสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้บริหารจัดการในเชิงนโยบายต่อไป ซึ่ง 1 ในระบบที่ทาง GISTDA ได้พัฒนาและสามารถใช้ได้จริงคือแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “เช็คฝุ่น” มีให้ดาวน์โหลดทั้ง IOS และ Andorid ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่มีการอัพเดทตลอดเวลาในการติดตามค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะคอยช่วยเสริมกับระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในภาคพื้นดินได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่ปรากฏจะเป็นข้อมูลแบบ Near Realtime โดยแอปพลิเคชั่นนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่นๆ โดยประชาชนสามารถใช้งานได้ฟรี
นอกจากนี้ยังมีผลงานต่อมาคือความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ที่เราจะพัฒนาระบบร่วมกันและใช้เป็นวอลรูมเดียวกันในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่าง Near Realtime ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลน้ำท่วม ข้อมูลไฟป่า ข้อมูลดินสไลด์ และจะพัฒนาเป็นรูปแบบเรียลไทม์ในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์เองก็มีความสนใจที่จะใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ของทางกรมฯ ทั่วประเทศกว่า 140 แห่ง อีกทั้งทาง GISTDA กำลังพัฒนาระบบ Open Platform ที่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ได้หลากหลายเรื่อง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานเร็วๆนี้
ที่ผ่านมากว่า 2 ปี นโยบายของ GISTDA ถือว่าประสบความสำเร็จ สำหรับผมค่อนข้างพอใจนะ และถือว่านโยบายที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงควรจะไปได้มากกว่านี้ถ้าไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องย้อนกลับไปดูว่าเราตั้งเป้าอะไรไว้ ซึ่งนโยบายหลักๆที่วางไว้คือ Space Economy และ GI For All
ทั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ Space เป็นโอกาสของอวกาศในระดับประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ดังนั้น ในช่วง 2 ปีแรก เราจะเน้นสร้างความตระหนักว่าเรื่องของธุรกิจอวกาศจะมาสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศได้อย่างไร เรื่องนี้ GISTDA ไปได้ไกลพอสมควร หลายๆหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ มีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากอวกาศ ทั้งเรื่องของดาวเทียมขนาดเล็ก ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชน ได้เริ่มมีห้องแลป เริ่มพัฒนาดาวเทียมเป็นของตัวเอง นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐในหลายๆหน่วยงาน ก็นำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับภารกิจและงานของหน่วยงานตนเองมากขึ้น ประกอบกับตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังมีแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในช่วงการปรับแก้ หลังจากนั้นจะนำเสนอให้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเพื่อนำไปใช้ทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติจริง
ส่วนด้านการสร้างชิ้นส่วนดาวเทียม GISTDA ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในการพัฒนาชิ้นส่วนในด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผลิตชิ้นส่วนส่งออกและควบคุมมาตรฐานในระดับสากล โดยมีการประสานความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่มีความสนใจร่วมมือกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนหรือ Software ที่มีความเกี่ยวข้องกับดาวเทียมและไปใช้ต่อยอดได้โดยดำเนินการ ทั้งประสานงาน ส่งเสริม แนะนำผู้ประกอบการในเชิงอุตสาหกรรม Hardware จนสามารถส่งออกได้โดยผ่านการทดสอบด้าน Environment Verification Testing (EVT) จากทาง GISTDA ซึ่งประกอบด้วย การทดสอบการสั่นสะเทือน (Vibration Testing) , การทดสอบอุณหภูมิในระบบสุญญากาศ (Thermal Vacuum) , การทดสอบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ (Thermal Cycling) และการทดสอบ Moment Of Inertia ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
สำหรับงานวิจัย ได้มีการทำงานร่วมกับ Thai Space Consortium หรือ TSC ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการวิจัยที่เกี่ยวกับอวกาศ มีบทบาทในเชิงการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านการส่งเสริมการสร้างคนในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงการฝึกอบรม สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้าน Space Economy ตามที่ได้วางไว้ ซึ่งขณะนี้เรามีคณะกรรมการด้านกิจการอวกาศที่มีการวางแผนและวางแนวนโยบายในการพัฒนาดาวเทียมของประเทศ ทั้งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจ และดาวเทียม Navigation หรือ GNSS และประเทศไทยเองก็กำลังวางแผนว่าเราควรจะมีดาวเทียมแบบไหน ประเภทไหน เพื่อพัฒนาตาม Roadmap ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มี GISTDA เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม ร่วมผลักดันเตรียมความพร้อมที่จะนำเรื่องของดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากขึ้นในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่กำลังผลักดัน นั่นก็คือในเรื่องของโดรนที่มีการพัฒนาซอฟแวร์และระบบในการติดตามการบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการติดตามในระดับนานาชาติ ทั้งด้านการจดทะเบียน การวิจัย การบริหารจัดการ ซึ่งจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้ต่อไป
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมางานด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ GI ได้นำไปใช้ในหลายภารกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งด้านภัยธรรมชาติ ด้านเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการวางแผน ด้านอุตสาหกรรม หรือแม้แต่กระทั่งช่วงที่เกิดไฟไหม้โรงงาน ข้อมูลด้าน GIS ถูกนำมาใช้ในงานด้านฉุกเฉินทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการโควิด-19 นโยบายของ GI For All จึงเป็นไปได้ด้วยดีตามที่ได้วางไว้
อีกเรื่องคือโครงการ THEOS 2 ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของประเทศ ตอนนี้บางกิจกรรมอาจมีความล่าช้าไปบ้างตามสถานการณ์โควิดที่-19 เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้ประเทศไทยของเรามีดาวเทียมไว้ใช้งาน เพื่อสานต่อภารกิจด้านอวกาศ และให้มีระบบบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่ง GISTDA เองให้ความสำคัญกับการดำเนินการนี้เป็นอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนาดาวเทียม การพัฒนาซอฟแวร์ และอื่นๆ ให้เป็นไปตามกรอบและแนวทางที่ได้วางไว้ และดาวเทียมทั้ง 2 ดวงจากโครงการ THEOS-2 พร้อมขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566
สิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งคือ การสร้างคนที่จะตอบโจทย์ความพร้อมในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่ง GISTDA ก็มีโครงการที่จะผลิตบัณฑิตในหลักสูตรนานาชาติในรูปแบบ Double Degree Program ร่วมกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน มีการอบรมนักเทคโนโลยีอวกาศ นักภูมิสารสนเทศ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคลากรทุกระดับ จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้คนมีความพร้อมที่จะสร้างธุรกิจที่เกิดขึ้นจากอวกาศและร่วมพัฒนากับหน่วยงานระดับจังหวัดรวมไปถึงสถาบันการศึกษานโยบายและทิศทางการดำเนินงานหลังจากนี้
เดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศ
สำหรับเรื่องของเศรษฐกิจอวกาศเป็นส่วนที่เราจะต้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ คือเรื่องของความชัดเจนของประเทศที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศเพราะหลังจากนี้ 2 ปี เราจะต้องดำเนินการในด้านนโยบายโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจอวกาศอย่างแท้จริง นั่นก็คือ พรบ.กิจการอวกาศหรือแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ ที่จะต้องมีการหารือกับหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาด้านกฎหมายของคณะกรรมาธิการ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านความเห็นชอบมาแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ส่วนของแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ และแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ จะต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงงานด้านวิจัยก็ต้องมีความชัดเจน โดยทั้งหมดทั้งมวลเราจะมุ่งเน้นไปว่า “เรื่องกิจการอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” ซึ่งการพัฒนาในทุก ๆ ด้านจะต้องเป็นการช่วยเหลือและตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของประชาชน และที่สำคัญสังคมต้องได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
ในปีหน้าดาวเทียม THEOS-2 ทั้ง 2 ดวงขึ้นสู่วงโคจร ประเทศไทยก็จะมีข้อมูลจากดาวเทียมที่พร้อมใช้ ซึ่งจะทำให้ประเทศของเรามีความพร้อมในด้านข้อมูลเชิงพื้นที่ที่จะออกไปสู่ตลาดนานาชาติ และจะได้ใช้ข้อมูลอย่างทั่วถึง จะเป็นการสร้างทีมในการทำงานและสร้างความพร้อมไปด้วยกัน รวมไปถึงระบบที่จะพัฒนาขึ้นที่เรียกว่า AIP หรือ Actionable Intelligence Policy จะได้ถูกใช้งานจริงในระดับนโยบาย ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์และวางแผนในระดับประเทศ นอกจากนี้ ด้านการประสานงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องที่ประเทศไทยได้รับให้เป็นประธาน CEOS จะเป็นการสร้างชื่อเสียงประเทศไทยในด้านกิจการอวกาศให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะนำนโยบายของต่างประเทศมาสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศอย่างสอดคล้องกัน
หนุนอุตสาหกรรมอวกาศ
ในด้านการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศก็จะเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะระยะที่ 1 ที่เราได้ดำเนินการไปแล้วทั้งการเตรียมพร้อมและการประสานต่างๆ และหลังจากนี้ เราจะผลักดันให้เกิดธุรกิจจริงๆ และอีกเรื่องที่จะมุ่งเน้นคือด้านความร่วมมือ เราจะสร้าง Team Thailand จะต้องเป็นทีมเดียวกันในการพัฒนาและสร้างกิจการอวกาศ เน้นการจับมือเพื่อร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันการศึกษา แล้วจะนำเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวมถึงต่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยที่ GISTDA จะเป็นแกนหลักและผู้ประสานงานหลัก เพื่อให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนจนเกิดเป็น impact ในระดับประเทศ บุคลากรที่เราสร้างขึ้นมาจะได้มาทำงานจริงๆ สร้างโอกาสให้กับทุกฝ่ายได้เรียนรู้และพัฒนาประเทศร่วมกันอย่างแท้จริง
สำหรับด้าน GI ขณะนี้เป็นอีก 1 เทคโนโลยีที่เติบโตเร็วมาก เรากำลังพัฒนา open platform ซึ่งมุ่งหวังมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในด้านของการพัฒนาซอฟต์แวร์ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้เข้าถึงประชาชน รวมไปถึงพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆเช่น metaverse, AI เป็นต้น จะนำมาหลอมรวมกับเครื่องมือที่เรามีอยู่และเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ Near Realtime มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตด้วย
++++ จับตาดาวเทียมดวงใหม่THEOS-2 +++
หลังจากนี้เราจะได้เห็นอะไรจาก GISTDA
เร็วๆนี้สิ่งที่จะได้เห็นในปีหน้าแน่นอนว่าดาวเทียมสำรวจโลกที่ชื่อ THEOS-2 ทั้งดวงเล็กและดวงใหญ่จะขึ้นสู่วงโคจร และพร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากดาวเทียม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ ด้านความมั่นคง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมือง
นอกจากนี้ เรื่องของ Spaceport จะต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลกที่สามารถสร้าง spaceport ได้ ด้วยการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจดาวเทียม การส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศมีจำนวนมากขึ้นและบ่อยขึ้น รวมทั้งการเดินทางข้ามทวีปอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า High alltitude ดังนั้นความต้องการในการมี spaceport จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะฉะนั้นการศึกษาการลงทุนและความร่วมมือกับนานาชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งทำ และเราคาดหวังว่ากิจการอวกาศและแผนแม่บทของประเทศจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศ
ทางด้าน Eco System ในเรื่องของกิจการอวกาศจะเกิดขึ้นในสังคมไทย และวงการเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะผลักดันให้เกิดเป็น impact สำหรับประเทศไทยในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตามจะได้เห็นข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากมายเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของดาวเทียม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเองก็จะเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีหลังจากนี้
สำหรับการศึกษาวิจัยขั้นสูงที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศ หรือ ESS (Earth Space Science) ที่เรามี Roadmap ในด้านการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ การขับเคลื่อนจะทำให้เห็นผลงานด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีกระทรวง อว. ช่วยส่งเสริมและผลักดัน การพัฒนาศึกษาวิจัยโดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพัฒนากันตรงจุดนี้ ประชาชนจะตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์ของกิจการอวกาศและจะได้รับการยอมรับในเรื่องของอวกาศคือโอกาสของประเทศ
อีกสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือในเรื่องของ open platfrom ข้อมูลที่มีอยู่จะถูกบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจนั้นๆ และถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพแบบ real time ทั้งนี้หน่วยงานและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆและใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวันต่อไป