GISTDA เผย ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 414 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ จ.แม่ฮ่องสอน 129 จุด จ.เชียงใหม่ 65 จุด และ จ.ตาก 36 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 414 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 205 จุด พื้นที่เกษตร 101 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 74 จุด พื้นที่เขตสปก. 18 จุด และพื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 16 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ จ.แม่ฮ่องสอน 129 จุด จ.เชียงใหม่ 65 จุด และ จ.ตาก 36 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (คือช่วงวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน 2565) จากภาพแสดงให้เห็นจุดความร้อนที่ยังกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่พบจุดความร้อนสูงสุดต่อเนื่องหลายวัน ส่วนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพบจุดความร้อนเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกจากพายุฝนฟ้าคะนอง ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 18 เมษายน 2565 พบว่าภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 14,838 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,943 จุด และภาคกลาง 9,208 จุด ตามลำดับ
ส่วนเช้านี้เวลา 09.00 น. อากาศดีขึ้น ภาพรวมทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5) อยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เช้านี้ยังพบค่าฝุ่นจิ๋วอยู่ที่ 38 (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง)
สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับหนึ่งคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 1,629 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นประเทศไทย จำนวน 414 จุด และอันดับที่ 3 เป็นราชอาณาจักรกัมพูชา 266 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดนภาคเหนือเนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามาขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วยนะครับ
ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
“ตารางค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองภายในจังหวัด” แสดงค่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับอำเภอของจังหวัดที่ผู้ตรวจสอบในขณะนั้น โดยเรียงลำดับอำเภอด้วยค่าความหนาแน่นฝุ่นจากมากไปหาน้อยภายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และเพื่อความเข้าใจในภาพรวมสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดเกี่ยวกับการใช้งานแผนที่
นอกจากนั้น หากเราต้องการตรวจสอบในพื้นอื่นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนที่เรารู้จักหรือคนที่เรารักและเคารพอาศัยอยู่ แอพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยตรวจสอบผ่านเมนู “เช็คฝุ่นจากดาวเทียม” เป็นการแสดงข้อมูลความหนาแน่นฝุ่นละอองขนาดเล็กในรูปแบบแผนที่ หรือเมนู “เช็คฝุ่นรายจังหวัด” ก็จะแสดงตารางลำดับความหนาแน่นของฝุ่นละอองรายจังหวัดที่มีการจัดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยให้เรียบร้อย เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ณ เวลาที่ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ หากต้องการทราบข้อมูลฝุ่นในระดับตำบลก็สามารถกดที่ชื่อจังหวัด ตามด้วยกดที่ชื่ออำเภออีกครั้ง ก็จะปรากฏลำดับความหนาแน่นฝุ่นในระดับตำบล เท่านี้ยังไม่พอ! หากกดไปที่ชื่อตำบลก็จะปรากฏกราฟความหนาแน่นฝุ่นรายชั่วโมงเช่นกัน นับได้ว่าเป็นการออกแบบการแสดงข้อมูลเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย
เบื้องหน้าดูทุกอย่างง่ายไปหมดแค่เพียงปลายนิ้วคลิกก็ทราบผล แต่ทว่าเบื้องหลังของ “เช็คฝุ่น” คือหนังคนละม้วน ด้วยการพัฒนา วิจัย ตรวจสอบเทียบค่าระหว่างข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภาคพื้นดินมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการประมวลผลข้อมูลที่หลากหลายและแบบจำลองมากมายที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังในทุกๆชั่วโมง ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาแอพลิเคชั่นเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทยและเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศโดยตรง
ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” สามารถดาวน์โหลดได้ ทั้งระบบไอโอเอส และแอนดรอยด์ การใช้งานไม่มีการลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้นเพียงแค่เปิดการเข้าถึงตำแหน่งของเราเท่านั้นเอง สามารถตรวจสอบได้ทันทีหลังจากติดตั้งโดยข้อมูลความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่วิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียมจะมีการอัพเดทอัตโนมัติทุกชั่วโมง