รฟท.ยันไม่มีปัญหาส่งมอบพื้นที่ "ไฮสปีด" ขีดเส้นเจรจา ซี.พี.วันนี้ยกสุดท้าย ขึงไทม์ไลน์เริ่มก่อสร้าง พ.ค. 65 ไม่ยอมรับจ่อกลับไปบริหารสัญญาเดิม ชี้ไม่ให้ดีเลย์แบบไม่มีที่สิ้นสุด ยันเคลียร์ที่ดินมักกะสัน ก.มหาดไทยปลดสถานะลำรางสาธารณะ แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการเจรจาแก้ไขสัญญากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อแก้ปัญหา กรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลง และเอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนจำนวน 10,671.090 ล้านบาท ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ได้ และเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ใน 2 ประเด็นนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่ยังเหลือเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งทางเอกชนยังไม่ยอมรับที่รฟท.กำหนดการออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ในเดือน พ.ค. 2565 โดยระบุว่า การส่งมอบที่ดินมักกะสัน จำนวน 150 ไร่ ยังมีปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะซึ่งถือว่าการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วน
คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ รฟท. สกพอ. และ บ.เอเชียเอราวันฯ จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ (19 เม.ย. 2565) เพื่อเจรจาในประเด็นการส่งมอบพื้นที่ให้ได้ข้อยุติ ซึ่งพื้นที่บึงเสือดำและลำรางสาธารณะที่เอกชนระบุว่าเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้นถือเป็น 1% เท่านั้น โดยหากวันนี้การเจรจาได้ข้อยุติจะเร่งเสนอคณะกรรมการบริหารพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) บอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงเสนออัยการสูงสุด ตรวจร่างสัญญาเพื่อแก้ไขสัญญาตามขั้นตอน ซึ่งอาจจำเป็นต้องขอขยายบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง รฟท.กับบริษัท เอเชีย เอรา วันฯ จากที่จะสิ้นสุดวันที่ 24 เมษายน 2565 ออกไปอีกเล็กน้อย เพื่อให้ครอบคลุมขั้นตอนในการนำเสนอ กบอ. กพอ. และ ครม.
แต่หากวันนี้ยังไม่สามารถตกลงร่วมกันได้นั้นอาจจะต้องยุติการเจรจา และเสนอต่อ กบอ. บอร์ดอีอีซี รับทราบข้อสรุป โดยจะกลับไปบริหารตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานเดิม เพราะหากการเจรจาต้องยืดเยื้อออกไปอีกจะทำให้ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟไทย-จีนต้องล่าช้า อีกทั้งภาครัฐไม่สามารถชี้แจงต่อประชาชนได้
แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจา 3 ฝ่าย อยู่บนเหตุผล ความเหมาะสม และในฐานะภาครัฐข้อตกลงต่างๆ ต้องสามารถอธิบายกับประชาชนได้ กรณีการส่งมอบที่ดินมักกะสัน จำนวน 150 ไร่ เอกชนไม่ยอมรับ โดยอ้างถึงปัญหาบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ ซึ่งในส่วนของบึงนั้นเป็นพื้นที่ช่วยระบายน้ำเป็นแก้มลิงของ กทม. ปัจจุบันพื้นที่มีสภาพแห้ง ไม่มีน้ำแต่อย่างใด โดย รฟท.ได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รับน้ำใหม่ให้ กทม.แล้ว ดังนั้น จุดนี้จึงไม่เป็นปัญหาในการส่งมอบใดๆ ให้เอกชน
ส่วนลำรางสาธารณะที่เอกชนไม่ยอมรับ มีเนื้อที่ไม่ถึง 2 ไร่ หรือประมาณ 1% เท่านั้น จากพื้นที่ส่งมอบทั้งหมด ซึ่ง รฟท.ได้ยืนยันการส่งมอบว่าไม่มีปัญหา และไม่มีข้อสัญญาใดที่ระบุว่า รฟท.ต้องเพิกถอนลำรางสาธารณะ ยกตัวอย่างกรณี มีบึง ลำรางสาธารณะหรือแม่น้ำในพื้นที่โครงการ ก็ไม่มีใครสามารถรื้อหรือเพิกถอนได้ แต่เอกชนอ้างว่าพื้นที่ 2 ไร่นั้นเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งหมด
แต่เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไป รฟท.พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ในกรณีลำรางสาธารณะที่ดินมักกะสัน โดย รฟท.และอีอีซีได้ดำเนินการประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อปลดออกจากสถานะลำรางสาธารณะแล้ว โดยตามขั้นตอนคาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่เอกชนยังไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อแผนลงทุนทั้งหมด และจะไม่ยอมก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจนกว่าจะเพิกถอนลำรางสาธารณะเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้ รฟท.ยอมไม่ได้ หากต้องรออีก 2 ปีจึงจะก่อสร้าง เพราะจะทำให้กระทบและเกิดความล่าช้าทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีน ตามไปด้วย
“ฝ่ายรัฐทั้ง รฟท.และอีอีซีเห็นว่าตามไทม์ไลน์การก่อสร้างควรออก NTP เริ่มงานในเดือน พ.ค. 2565 เพราะจะสามารถแก้ปัญหาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ทั้ง 2 โครงการ โดยมีความล่าช้าน้อยที่สุด แต่หากการก่อสร้างล่าช้าออกไปจากเดือน พ.ค. 2565 ประเมินว่าทั้ง 2 โครงการจะล่าช้าออกไปอย่างมากและไม่สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ตามเป้าหมาย”
อย่างไรก็ตาม กรณีที่การเจรจาในคณะกรรมการ 3 ฝ่าย วันที่ 19 เม.ย. 2565 ไม่ได้ข้อยุติ รฟท.เตรียมแผนสำรอง โดยจะเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเอง โดยเปิดประมูลสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ส่วนเอกชนต้องชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนจำนวน 10,671.090 ล้านบาทตามเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนฯ