รถไฟไทย-จีน เฟส 3 ไม่ลงตัว ลาวยืนใช้แบบเดิมสร้างสะพานเชื่อม "หนองคาย-เวียงจันทน์" รับรถไฟอย่างเดียว ส่วนรับรถยนต์ด้วยขอเสนอรัฐบาลก่อน "คมนาคม" ไม่รอลุยออกแบบ 2 ทางเลือกหวั่นล่าช้า พร้อมบริหารสะพานเดิมเดินรถไฟขนสินค้าเพิ่ม 14 เที่ยว/วัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อหาแนวทางการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีนที่นำไปสู่การพัฒนายกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศทั้งในระยะสั้นภายในปีนี้ และระยะยาวโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงอุตสาหกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคเอกชน เช่น หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ฯลฯ ร่วมหารือ
โดยในประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งในการประชุมคณะทำงานร่วมไตรภาคีด้านรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ทั้งสามฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการศึกษาและออกแบบรายละเอียดสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ โดยไทยเห็นว่าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ควรรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ และรองรับรถยนต์ด้วย พร้อมมีโครงข่ายถนนเชื่อมต่อสะพานทั้งสองฝั่งนั้น ทางฝ่ายลาวเห็นว่าควรพิจารณาเฉพาะสะพานรถไฟตามข้อตกลงเดิมในลำดับแรก ในส่วนของสะพานถนน ทางฝ่ายลาวจะได้นำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) พิจารณาขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย (งบกลาง) ประมาณ
140 ล้านบาท เพื่อออกแบบสะพานแห่งใหม่ ซึ่งได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงบประมาณแล้ว และได้เตรียมร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการฯไว้แล้ว
ทั้งนี้ กรณีการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ที่มีทั้งรองรับรถไฟ และรถยนต์ด้วยนั้น เนื่องจากไทยเพิ่งนำเสนอในที่ประชุมสามฝ่าย ดังนั้น ทางลาวจึงต้องนำกลับไปเสนอกับรัฐบาลลาวก่อน ในระหว่างนี้ไทยจะดำเนินการเรื่องออกแบบไปก่อนโดยจะออกแบบ 2 ทางเลือก คือ แนวทางที่ 1 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ ทางด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม โดยก่อสร้างเป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง
(ขนาด 1 เมตร ของ รฟท.2 ทาง
ขนาด 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge) รับรถไฟความเร็วสูง 2 ทาง) และสะพานรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร ในโครงสร้างเดียวกัน พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานเดิมให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว
แนวทางที่ 2 ออกแบบก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานเดิม โดยก่อสร้างเป็นสะพานรถไฟรองรับได้ 4 ทาง
(ขนาด 1 เมตรของ รฟท.2 ทาง
ขนาด 1.435 เมตรหรือ Standard Gauge) รับรถไฟความเร็วสูง 2 ทาง) พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานเดิมให้เป็นสะพานรถยนต์เพียงอย่างเดียว และออกแบบก่อสร้างสะพานรถยนต์ใหม่อยู่ด้านเหนือของสะพานเดิม มีขนาด 2 ช่องจราจร
“ในระหว่างที่รอทางฝ่ายลาวพิจารณารูปแบบสะพานแห่งใหม่ระหว่างแบบเดิมที่เป็นสะพานรถไฟอย่างเดียว กับรูปแบบที่รองรับรถยนต์ด้วยนั้น ในการดำเนินการไม่ได้หยุดชะงักแต่อย่างใด โดยหลังจากกรมทางหลวงได้รับงบประมาณ จะมีขั้นตอนในการดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะออกแบบเสร็จประมาณกลางปี 2566 นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามหลักการไทยและลาวจะออกค่าก่อสร้างสะพานคนละครึ่ง โดยประมาณการสะพานรูปแบบเดิมรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่มีค่าก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท กรณีเพิ่มรองรับรถยนต์พร้อมโครงข่ายถนนเชื่อมต่อคาดว่ามีค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท
สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เป็นการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในช่วงที่ 3 การเชื่อมต่อจากหนองคาย-เวียงจันทน์ มีระยะทาง 16 กม. โดยสะพานแห่งใหม่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวประมาณ 30 เมตร ซึ่งสะพานดังกล่าวจะทำให้การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างไทย-ลาว-จีน ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
นอกจากนี้ คณะทำงานร่วมฯ เชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน ยังได้หารือถึงสถานการณ์การขนส่งทุเรียน ซึ่งในปัจจุบันผลผลิตทุเรียนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 42% และมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้น 64%
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์แนวโน้มผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยในปี 2565 ว่าจะมีทุเรียนรวมทั้งประเทศประมาณ 1,483,041 ตัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการระบายผลผลิตทางการเกษตร และลดการล้นตลาดของผลไม้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดทำแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม ไป 4 เที่ยว กลับ 4 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่เป็น ไป 7 เที่ยว กลับ 7 เที่ยว และขบวนละ 25 แคร่
ขณะที่ บริษัท เก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด ได้แจ้งถึงผลการขนส่งสินค้าเกษตรปริมาณ 60 ตัน (ทุเรียน 40 ตัน และมะพร้าว20 ตัน) ทางรถไฟ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีนเป็นครั้งแรกว่า แผนการบริหารจัดการสะพานเพียงพอต่อปริมาณความต้องการในการขนส่งของประเทศ