xs
xsm
sm
md
lg

IRPC จับมือ ปตท.จัดหาน้ำมันล่วงหน้า ปรับแผนลดผลกระทบสงครามรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไออาร์พีซีชี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเล็กน้อย โดยนำเข้าถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าจากอินโดนีเซียและส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปตลาดอื่นแทนที่ไม่ใช่รัสเซีย พร้อมจับมือ ปตท.ในการจัดหาน้ำมันดิบล่วงหน้า 2 เดือนเพียงพอต่อความต้องการใช้

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยผลกระทบสงครามรัสเซียกับยูเครนว่า ขณะนี้บริษัทหันไปนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียและออสเตรเลียแทนการนำเข้าจากรัสเซียเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าราว 64 เมกะวัตต์แล้วหลังวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนทวีความรุนแรง

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปรัสเซียน้อยมากไม่เกิน 1% ซึ่งบริษัทได้หันไปทำตลาดส่งออกที่ประเทศอื่นแทนทำให้บริษัทได้รับผลกระทบทางตรงจากสงครามดังกล่าวไม่มาก แต่หากพิจารณาผลกระทบทางอ้อมนั้น บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง ดังนั้นบริษัทได้ร่วมมือกับ ปตท.ในการจัดหาน้ำมันดิบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและบริหารความเสี่ยง

สำหรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้บริษัทได้ปรับขึ้นราคาขายสินค้าเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ผลการดำเนินงานบริษัทไตรมาส 1/2565 เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นยืนเหนือ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้บริษัทมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Gain) แต่ต้นทุนของราคาน้ำมันใหม่ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาแนฟทาที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับเพิ่มสูงขึ้น

ทำให้ปี 2565 บริษัทคาดว่ามีรายได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้การขาย 235,174 ล้านบาท จากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้ว่าปีนี้มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีจากจีนและมาเลเซียเข้ามาเพิ่ม กดดันตลาดเม็ดพลาสติก ABS และ PP ทำให้มาร์จิ้นแคบลง รวมทั้งบริษัทมีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/2565 ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 1.80-1.85 แสนบาร์เรล/วัน และค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (Market GIM) ใกล้เคียงปี 2564 ที่ 13.12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (2565-69) บริษัทได้ตั้งงบลงทุนตามแผนธุรกิจวงเงินรวม 41,350 ล้านบาท แบ่งเป็น การซื้อกิจการ (M&A) ราว 14,000 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF) ราว 10,000 ล้านบาท และการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีนี้ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นปีละ 2,000 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุนปีนี้อยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 ราว 6,000 ล้านบาท และการซื้อกิจการ (M&A) ราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาหลายราย รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นปีนี้รวมราว 4,000 ล้านบาท

บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงไตรมาส 2/2565 เพื่อคืนหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท อาศัยจังหวะช่วงนี้มีอัตราดอกเบี้ยยังไม่สูงมากนัก

ความคืบหน้าของโครงการ UCF ยังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้นของน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ (Low Sulfur Diesel) ทั้งภายในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน (AEC) และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ตอบสนองนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) ที่ทันสมัย ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2567

ส่วนโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 60%ในบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/2565 เพื่อช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น