ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 2 เดือนปี 65 โตต่อเนื่อง มีมูลค่า 2,077.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 101.15% ได้แรงหนุนจากส่งออกทองคำไปเก็งกำไร ที่โตสูงถึง 324.82% หากหักทองคำออกการส่งออกยังบวก 41.92% เผยปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว แต่แนวโน้มต่อไปต้องจับตาผลกระทบสงคราม เงินเฟ้อ และโอมิครอน ที่ยังระบาดอยู่
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยช่วง 2 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 2,077.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 101.15% คิดเป็นสัดส่วน 4.66% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย แต่หากหักการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,158.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.92% ถือเป็นการขยายตัวที่สูงต่อเนื่อง และสะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม หลังจากที่ประสบปัญหากำลังซื้อชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 52.10% อินเดีย เพิ่ม 141.25% ฮ่องกง ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกชะลอตัวมาโดยตลอด เพิ่มขึ้น 25.89% เป็นการเพิ่ม 2 เดือนติดต่อกัน เยอรมนี เพิ่ม 6.13% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 132.84% เป็นต้น
โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 16.65% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 48.51% เพชรก้อน เพิ่ม 31.82% เพชรเจียระไน เพิ่ม 81.37% พลอยก้อน เพิ่ม 58.88% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 68.99% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 57.41% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 38.86% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 54.17% และทองคำ เพิ่มขึ้น 324.82% จากการที่ราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และมีการส่งออกไปขายทำกำไร ส่วนเครื่องประดับแพลทินัมลด 15.83%
นายสุเมธกล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 2 เดือน พบว่ามีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ประเทศที่มีกำลังซื้อสำคัญอย่างสหรัฐฯ อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ต้องจับตาผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และยังมีผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังไม่คลี่คลาย
ทั้งนี้ ในการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้ไป ผู้ประกอบการจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการขายออนไลน์ ที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และใช้การเจรจาการค้าออนไลน์ เพื่อนำเสนอขายสินค้าเพราะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง