xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.พ.ยังรุ่งโต 16.2% จับตา มี.ค.-เม.ย.สงครามกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก ก.พ. 65 มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.2% ยอดรวม 2 เดือนมูลค่า 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12.2% ยังเกินเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ ส่วนตลาดส่งออก รัสเซียมาแรงขยายตัวสูงสุด เผยต้องจับตาเดือน มี.ค.-เม.ย. หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เอกชนชี้ห่วงโซ่การผลิต การขนส่งเพี้ยนไปหมด มีทั้งวิกฤตและโอกาส

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ. 2565 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.2% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 770,819 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.8% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 776,612 ล้านบาท เกินดุลการค้า 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขรวม 2 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,479,131 ล้านบาท ยังเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3-4% และการนำเข้ามีมูลค่า 47,144.8  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 1,579,300 ล้านบาท โดยขาดดุลการค้า 2,403.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. รัสเซีย เพิ่ม 33.4% 2. อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 31.5% 3. ฮ่องกง เพิ่ม 29.8% 4. เกาหลีใต้ เพิ่ม 28.9% 5. สหรัฐฯ เพิ่ม 27.2% 6. อินเดีย เพิ่ม 23% 7. ไต้หวัน เพิ่ม 17.7% 8. สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.3% 9. CLMV เพิ่ม 14.4% 10. ตะวันออกกลาง เพิ่ม 13.8% แต่รายละเอียดสินค้ายังไม่มี เนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบพิกัดภาษีศุลกากรในรอบ 5 ปี ซึ่งต้องรออีกระยะ ถึงจะแยกออกมาได้

สำหรับปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกในเดือนก.พ. 2565 มาจากภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว ดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing : PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย และสถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังไม่รวมประเด็นที่จะเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเรื่องโลจิสติกส์ ค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเดือนก.พ. 2565 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เดือน มี.ค.-เม.ย.ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และลงลึกจากข้อมูลของทูตพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะมีผลกระทบด้านไหน จากนั้นจะแก้ปัญหาร่วมกับเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ต่อไป

นายจุรินทร์กล่าวว่า การขับเคลื่อนการส่งออกในปีนี้ จะยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป โดยเน้นเป็นรายสินค้า เช่น ข้าว ปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวบรรลุเป้าหมายได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตัน และจะมีตลาดเพิ่มในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบียและอื่นๆ ส่วนสินค้าไก่ ซาอุดีอาระเบีย ได้อนุญาตให้ไทยส่งออกไก่ได้แล้ว 11 โรงงาน ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการส่งออกได้ล็อตแรก

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าประสานงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ ในการบรรจุสินค้าและบริการของไทยเข้าไปจำหน่าย ล่าสุดแพลตฟอร์มไต้หวันนำสินค้าไทยไปขายบนแพลตฟอร์ม 3 แพลตฟอร์ม คือ PChome, PINKOI Online Marketplace และไปรษณีย์ไต้หวัน ช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้า BCG และจะจัดการกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือ Online Business Matching - OBM ต่อเนื่อง อย่างล่าสุด เจรจาซื้อขายสินค้า BCG ได้มูลค่า 3,450 ล้านบาท โดยคู่เจรจา 5 อันดับแรก คือ อินเดีย เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และมีการจัด In-Store Promotion ที่ห้างดองกี้ ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการขายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ผลไม้และข้าว เป็นต้น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อไทยทางตรงที่น่าห่วง คือ สถานการณ์ที่ไม่นิ่งและความสับสนในเรื่องของห่วงโซ่การผลิต และการขนส่ง เพราะมีสินค้าทุนบางรายการที่ 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ และขณะนี้การส่งออกชะงัก เช่น ปุ๋ย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน อีกทั้งยังมีการปิดท่าเรือบางแห่งของยูเครน และต้องเปลี่ยนท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้า การขนส่งปั่นป่วน และกระทบต่อการค้าโลก

“ตอนนี้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าเพี้ยน การขนส่งเพี้ยน และจะกระทบต่อการค้าได้ แต่ไทยก็ต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน ขณะเดียวกัน จะมีผลดีต่อไทยด้วย เพราะหลายประเทศอาจเปลี่ยนแหล่งนำเข้ามาเป็นในเอเชีย และไทยแทน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร”

ส่วนการที่เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น จนอาจกระทบความต้องการซื้อสินค้า และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้นั้น เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เพิ่งขึ้นในช่วงมีสงครามรัสเซียและยูเครน แต่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สงครามก็เร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีก และทำให้กำลังซื้อประชาชนทั่วโลกลดลง เพราะสินค้ามีราคาแพงขึ้น แต่รายได้ประชาชนเพิ่มตามไม่ทัน และในที่สุดอาจกระทบต่อการส่งออกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น