xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน Kick off “1 พัฒนากร 1 กลุ่มออมทรัพย์ฯ” เมืองนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) มอบหมายให้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในการ Kick off การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต “1 พัฒนากร 1 กลุ่มออมทรัพย์ฯ” สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวรายงาน มี นายชัยวุฒิ ครุฑมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตรีพล เจาะจิตต์ นายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่จัดตั้งใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ก่อนมอบนโยบายขับเคลื่อนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต “1 พัฒนากร 1 กลุ่มออมทรัพย์ฯ” ได้มีการรับชมคลิปพิธีเปิดกิจกรรมประกาศวาระชุมชน ในโอกาสครบรอบ 48 ปี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต “ส่งเสริมการออมภาคประชาชน” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ริเริ่มแนวคิดการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ได้แสดงปาฐกถา และได้ฝากแนวคิดในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ฯ ให้ยึดตามแนวทางที่เน้นความเท่าเทียม ทุกคนสามารถเป็นสมาชิกได้ เงินของทุกคนมีค่าเท่ากัน คนรวยมีโอกาสในการช่วยเหลือแบ่งปันเงินทุน คนจนมีโอกาสในการแบ่งปันแรงงาน หลักสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์คือการออมตามศักยภาพของประชาชน และมีการผลิต เพื่อให้เกิดกิจกรรมในชุมชนและการส่งเสริมอาชีพให้แก่สมาชิก

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการออมภาคประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการออมในชุมชน ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันภายในครอบครัวตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการออมโดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขรัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6-8 มีนาคมของทุกปีเป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือนและช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน” ให้คนมีคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกันและความไว้วางใจกันและพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ“กระบวนการกลุ่ม” และใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว ลดการพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก นอกจากนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสามารถดำเนินกิจกรรมเครือข่ายหรือกิจกรรมเชิงธุรกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกหัดการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้านต่างๆ และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง มีอาคารสถานที่เหมาะสม คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่นๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ซึ่งมี 8 แห่งทั่วทุกภาค

ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ซึ่งเป็นโรงเรียนให้การฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ฯ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 16,250 คน มีทรัพย์สินหมุนเวียนประมาณ 213 ล้านบาท มีการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และสงเคราะห์ คนพิการ ผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จัดซื้อที่ดินให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและผู้ด้อยโอกาส จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และมีกิจกรรมเครือข่าย (การลงทุน) เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด โรงแป้งขนมจีน โรงรับซื้อน้ำยาง และรมยาง โรงปุ๋ยชีวภาพ โรงน้ำดื่ม และการให้บริการสินเชื่อในการซื้อสินทรัพย์ให้กับสมาชิก นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนชุมชน ที่มีผู้นำ กลุ่ม/องค์กร และหน่วยงานภาครัฐมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา จังหวัดนครศรีธรรมราช รับผิดชอบการเรียนการสอนโดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา กระบี่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล ภูเก็ต และจังหวัดพังงา โดยเปิดการฝึกอบรม 3 หลักสูตร คือ 1) การบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 2) การบริหารจัดการบัญชีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และ 3) การบริหารจัดการกิจกรรมเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มอบภารกิจให้ทุกอำเภอจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พัฒนากร 1 คน อย่างน้อยคนละ 1 กลุ่ม โดยจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงหรือหมู่บ้านที่มีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) หรือหมู่บ้านที่มีกองทุนแม่ของแผ่นดิน หรือหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม ตลอดจนติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นหนัก "การรณรงค์การประหยัดและการออมอย่างต่อเนื่อง" เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชน ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่จัดตั้งใหม่ ปี 2565 แล้ว จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 30 ตำบล 11 อำเภอ ทั้งนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงรุกกำหนดเป้าหมายให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตครบทุกตำบล

ในการนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านทุ่งหนองควาย หมู่ที่ 4 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ การคัดสรรกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2564 ประเภท กลุ่มองค์กรชุมชนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น