xs
xsm
sm
md
lg

พช.นครศรีธรรมราช Kick off "1 พัฒนากร 1 กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเนื่องในวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ครบรอบ 48 ปี โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับจังหวัดและอำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรมฯ ดังกล่าว ณ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางสะพาน หมู่ที่ 7 ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช กิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย
      1. การอ่านสารอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประกาศวาระชุมชน “การส่งเสริมการออมภาคประชาชน” เนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 130 ปี วาระการครบรอบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชน ในปี พ.ศ. 2565 และครบรอบ 48 ปี วันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ในวันที่ 6 มีนาคม 2565
โดย นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. การมอบเกียรติบัตรแก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 3 ประเภท ได้แก่
- ประเภทที่ 1 กลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่มีระยะเวลาดำเนินการมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านตลาดดอน หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพังไกร อำเภอหัวไทร
- ประเภทที่ 2 กลุ่มออมทรัพย์ฯ มีอัตราของจำนวนสมาชิกกลุ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนตามฐานข้อมูล จปฐ. ปี 2564 ของหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา หมู่ที่ 2 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จำนวนสมาชิก 13,917 คน

- ประเภทที่ 3 กลุ่มออมทรัพย์ฯ มีเงินออมมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านในเขียว หมู่ที่ 3 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จำนวนเงินสัจจะ 206,125,784 บาท
บรรยายให้ความรู้ “การบริหารจัดการเงิน การออม และภัยทางการเงิน โดยนาย วิศลย์ ปรีชาดา วิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทย
3. จัดเวทีเสวนา หัวข้อ “ความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพี่อการผลิต”
4. จัดนิทรรศการและนำเสนอผลงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 4 แห่ง คือ

- ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านบางสะพาน (กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางสะพาน) หมู่ที่ 7 ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านทุ่งหนองควาย หมู่ที่ 4 ตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา
- โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา (กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา) หมู่ที่ 2 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี
- ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านปากมูด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง
     
    กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกำหนดให้วันที่ 6-8 มีนาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัดและการออมของประชาชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือนและช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน” ให้คนมีคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกันและความไว้วางใจกันและพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เรียนรู้การทำงานร่วมกันในรูปแบบ“กระบวนการกลุ่ม” และใช้ “สัจจะออมทรัพย์” เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัยการออมของสมาชิก ปัจจุบันมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจำนวน 19,222 กลุ่ม สมาชิก 5.2 ล้านคน มีเงินสัจจะสะสมกว่า 34,900 ล้านบาท สมาชิกกลุ่มฯ ได้รับประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ และแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว ลดการพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก จำนวน 1.2 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 24,300 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตสามารถดำเนินกิจกรรมเครือข่ายหรือกิจกรรมเชิงธุรกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและชุมชน เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว ลานตากผลผลิต โรงสีข้าวชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกหัดการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม เพื่อให้เกิดรายได้ของกลุ่ม เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนาด้านต่างๆ และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง มีอาคารสถานที่เหมาะสม คณะกรรมการมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอื่นๆ ที่ยังไม่เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด “พี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็น “โรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ซึ่งมี 8 แห่งทั่วทุกภาค และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เข้มแข็ง ยังเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์จัดการกองทุนชุมชน (ศจก.)

ทั้งนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มอบภารกิจให้ทุกอำเภอจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต พัฒนากร 1 คน อย่างน้อยคนละ 1 กลุ่ม โดยจัดตั้งกลุ่มในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงหรือหมู่บ้านที่มีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) หรือหมู่บ้านที่มีกองทุนแม่ของแผ่นดิน หรือหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม ตลอดจนติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นหนัก "การรณรงค์การประหยัดและการออมอย่างต่อเนื่อง" เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกและชุมชนสืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น