นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) นำทีมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (คจพ.อ.) ร่วมลงพื้นที่ครัวเรือนยากจน เพื่อติดตามงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายเกรียงศักดิ์ รักษ์ศรีทอง นายอำเภอพรหมคีรี นายสมเกียรติ ไหมดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเรียง นางสาวสุกรีฑา อรุณจิตต์ พัฒนาการอำเภอพรหมคีรี พัฒนากร และทีมพี่เลี้ยง นำลงพื้นที่และร่วมให้ข้อมูลการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ณ ตำบลนาเรียง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาในมิติต่าง ๆ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People and Analytics Platform : TPMAP) 5 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ มิติที่ 2 ด้านความเป็นอยู่ มิติที่ 3 ด้านการศึกษา มิติที่ 4 ด้านรายได้ และมิติที่ 5 ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคนจนเป้าหมาย TPMAP ทั้งสิ้นจำนวน 25,933 ครัวเรือน 39,238 คน ต่อมา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ได้ประกาศวาระจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอาศัยกลไกทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในการบูรณาการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช พ้นจากความยากจนและมีความสุขได้อย่างยั่งยืน จึงได้ประกาศให้การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น “วาระจังหวัด” ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดให้ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (ศจพ.อ.) ประชุมรับรองข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ จากทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ โดยสรุปรายงานข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม 2565 รายละเอียด มีจำนวนครัวเรือนยากจนเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 6,901 ครัวเรือน 9,039 คน จำแนกตามมิติของปัญหา 5 มิติ ดังนี้ 1) มิติด้านสุขภาพ จำนวน 2,120 คน 2) มิติด้านความเป็นอยู่ จำนวน 5,402 คน 3) มิติด้านการศึกษา จำนวน 576 คน 4) มิติด้านรายได้ จำนวน 6,334 คน และ 5) มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ จำนวน 218 คน นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ 1) ไม่มีที่ดินทำกิน 2) อยู่ในเขตป่าสงวน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และ 3) บ้านตั้งอยู่ในทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ จะเห็นได้ว่า ทีมพี่เลี้ยง คือ กลไกที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ทีมพี่เลี้ยงร่วมกับครัวเรือนวิเคราะห์ปัญหา แนวทางในการแก้ไข และทำแผนพัฒนาครัวเรือน (พัฒนาได้/สงเคราะห์) โดยใช้หลัก 4ท ประกอบด้วย ท1 = ทัศนคติ ต่อชีวิต ต่อการทำงาน ต่อสภาพปัญหา ท2 = ทักษะฝีมือ ทักษะอาชีพ ท3 = ทุนในครอบครัว (ศักยภาพของครัวเรือน) และทุนชุมชน ท4 = การหาทางออก โดยให้ทีมพี่เลี้ยงติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด (Intensive care) และบันทึก Logbook ทุกครั้งที่มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กำหนดประเด็นเน้นย้ำที่ทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ มีดังนี้
- กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนครศรีธรรมราช 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 3) การพัฒนาคุณภาพสังคม
- กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับ ศจพ.จ. และ ศจพ.อ. ไว้ 5 อย่าง ดังนี้ 1) จะต้องเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ 2) จะต้องเป็นสำนักงบประมาณ 3) จะต้องเป็นตลาดหุ้น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 4) จะต้องเป็นคลินิก และ 5) จะต้องเป็นห้องผ่าตัด
- ทีมพี่เลี้ยงและทีมปฏิบัติการจะต้องเดินไปด้วยกัน โดยนำกลยุทธ์ “KUSA” ที่ประกอบด้วย
K = Knowledge (ความรู้)
U = Understand (เข้าใจ)
S = Skill (ทักษะ)
A = Attitude (ทัศนคติ)
โดยให้ทีมปฏิบัติการทำ 4 เรื่อง ให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้ทักษะที่ต้องมีในการดำรงชีวิต และมีทัศนะคติที่ถูกต้องซึ่งจะมีความสอดคล้องกับหลัก 4ท
- แบ่งครัวเรือนเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมืออาชีพ (หัวไวใจสู้), ระดับมือสมัครเล่น (รอดูทีท่า) และระดับมือใหม่ (เบิ่งตาลังเล)
- ทีมพี่เลี้ยงจะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่มีสถานการณ์ที่เข้ามาเป็นตัวแปร ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด อุทกภัย หรือเหตุการณ์อื่น ๆ เป็นปัญหาซ้อนปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ต้องพุ่งเป้าไปยังครัวเรือนเป้าหมายมาแก้ปัญหาก่อน โดยใช้เมนูแก้จนเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการแก้จนแบบพุ่งเป้าสู่ความอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน