BAFS ตั้งเป้าปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานปีนี้แตะ 3,594 ล้านลิตร โตขึ้น 119% จากปีก่อน เป็นผลจากมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น หนุนรายได้ปีนี้โตขึ้น
นายจักรสนิท กฤษสอาดใจบริษัท รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบัญชีและการเงินกลุ่มบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) หรือบาฟส์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน (JET) อยู่ 3,594 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 119% จากปีก่อนที่มีปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองรวม 1,638 ล้านลิตร หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 59% ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
เนื่องจากบริษัทประเมินโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาด และรัฐบาลมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเตรียมเปิดประเทศ ทำให้มีเที่ยวบินต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เที่ยวบินยุโรปต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินใหม่ที่ไกลกว่าเดิม ทำให้ต้องมีการเติมน้ำมันอากาศยานมากขึ้นเมื่อบินมาไทย
ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้งหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะถึงจุดคุ้มทุนหรือไม่ และจำนวนเที่ยวบินจะกลับมาเร็วแค่ไหนโดยเฉพาะเที่ยวบินจากจีน หากจีนมีการเปิดประเทศจะเห็นการเติบโตของจำนวนเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 1,664.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 11.6% และขาดทุนสุทธิ 784.8 ล้านบาท เนื่องจากปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางอากาศยานและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกรวมทั้งไทย โดยภาครัฐยังคงใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้าง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันอากาศยานที่กลุ่มบริษัทให้บริการทั้ง 2 สนามบินลดลง 30.4% และจำนวนเที่ยวบินที่บริษัทให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานอยู่ที่ 83,123 เที่ยวบิน ลดลง 39.7% ส่วนปริมาณน้ำมันขนส่งผ่านทางท่อน้ำมันบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ปริมาณรวม 2,688 ล้านลิตร ลดลง 14.2%
นายจักรสนิทกล่าวว่า ในปี 2565 บาฟส์ตั้งงบลงทุนไม่มากอยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยจัดสรรใช้ในธุรกิจไฟฟ้า 300 ล้านบาท, โครงการลงทุนระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ
ส่วนการลงทุนของบริษัทย่อยคือ FPT จะใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาทเพื่อใช้ย้ายท่อน้ำมันจากโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ วงเงิน 400 ล้านบาท และงบเชื่อมท่อกับแทปไลน์อีก 600 ล้านบาท ซึ่ง FPT จะเป็นผู้ลงทุนเอง หลังจากขายสิทธิการบริหารทรัพย์สินโครงการ ระบบท่อส่งน้ำมัน (ช่วงกรุงเทพฯ-บางปะอิน) ของ FPT ให้แก่ บริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด เป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นวงเงิน 1,600 ล้านบาท