“จุรินทร์” ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ไฟเขียวคณะกรรมการหนี้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร 5,277 ราย วงเงิน 3,533 ล้าน ซื้อทรัพย์ 35 ราย ที่เป็นหนี้ NPA วงเงิน 52.7 ล้าน ปรับเงื่อนไขซื้อทรัพย์ที่ขายไปแล้วได้หลายทอด ดึงที่ดินคืนสู่มือเกษตรกร และอนุมัติใช้งบกลางแก้หนี้และฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรกร พร้อมโชว์ผลงานแก้หนี้เกษตรกร 2 ปี ช่วยไป 1,857 ราย วงเงินหนี้ที่แก้ไข 1,514 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คณะกรรมการหนี้ ซึ่งเป็นกลไกของกรรมการชุดใหญ่ ไปดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติมอีก 5,277 ราย วงเงิน 3,533 ล้านบาท ให้ซื้อทรัพย์เพิ่มเติมอีก 35 ราย ที่เป็นหนี้ NPA วงเงิน 52.7 ล้านบาท และให้ปรับปรุงระเบียบของกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้สามารถซื้อทรัพย์ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน หลุดมือ และมีการนำไปขายต่อหลายทอด แต่เกษตรกรยังหวังจะได้รับที่ดินกลับคืน โดยให้กองทุนฯ สามารถซื้อทรัพย์ที่เป็นที่ดินเกษตรกรเดิมที่ถูกขายไปหลายทอดมาเป็นของกองทุนฯ และให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินเดิมมาผ่อนชำระกับกองทุนฯ เมื่อผ่อนหมดก็คืนให้เกษตรกร จากที่ก่อนหน้านี้สามารถซื้อทรัพย์สินได้เพียงทอดเดียวจากสถาบันการเงิน แต่ถ้ามีการขายต่อไปทอด 2 หรือ 3 จะซื้อไม่ได้ แต่ตอนนี้ซื้อได้แล้ว จะช่วยให้เกษตรกรได้ที่ดินกลับคืนมา
ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดสรรงบกลาง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกองทุนฯ ได้ขอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบแล้วให้สามารถใช้วงเงิน 2,000 ล้านบาทได้ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้สามารถนำงบ 2,000 ล้านบาทไปดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แบ่งเป็นงบบริหารจัดการสำนักงานกองทุนฯ 230.8 ล้านบาท แก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร 1,500 ล้านบาท มีเกษตรกรเป้าหมาย 3,425 ราย และใช้ในโครงการฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรกร 269 ล้านบาท โดยมีองค์กรที่รอขอโครงการ 776 องค์กร มีสมาชิกรวม 42,034 ราย
สำหรับผลการดำเนินการของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามารับผิดชอบการดำเนินการ มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับกองทุนจำนวน 5,670,659 ราย และที่ขึ้นทะเบียนในรูปองค์กรเกษตรกร 56,284 องค์กร โดยขึ้นทะเบียนหนี้เพื่อขอให้กองทุนฯ แก้ปัญหาให้ มีจำนวนเกษตรกร 535,871 ราย คิดเป็น 769,220 บัญชี เป็นวงเงินหนี้ 107,119 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินการในรอบ 2 ปี ได้แก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,857 ราย วงเงินหนี้ที่แก้ไข 1,514 ล้านบาท แยกเป็นการเข้าไปซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแล้วให้เกษตรกรมาเป็นหนี้กองทุนแทน ไม่มีภาระดอกเบี้ยและไม่มีการยึดที่ดินจนกว่าเกษตรกรจะผ่อนชำระได้หมด มีจำนวน 1,695 ราย วงเงิน 1,347 ล้านบาท และกองทุนฯ เข้าไปซื้อทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือกำลังดำเนินการไปขายทอดตลาดจำนวน 162 ราย วงเงิน 167 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดยุคหนึ่งในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรในวงเงินจำกัดเท่าที่กองทุนฟื้นฟูฯ มี
นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้เกิดการชะลอฟ้องหรือไม่ถูกฟ้อง และชะลอการขายทอดตลาดได้จำนวน 11,472 ราย และวัตถุประสงค์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่ได้เพียงแก้ปัญหาหนี้สิน แต่เมื่อแก้ปัญหาหนี้สินได้บางส่วนแล้ว ยังมีนโยบายเข้าไปพัฒนาฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรด้วยการจัดโครงการพัฒนา เพื่อให้ฟื้นตัวได้หลังใช้หนี้แล้ว โดยเห็นชอบ 551 โครงการ วงเงิน 313 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนได้ 9,107 ราย