xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” ยันสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่กระทบลงทุนในพื้นที่อีอีซี แต่ต้องเกาะติดใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คณิศ” ยันการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่กระทบการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะ 4 บิ๊กโปรเจกต์โครงการพื้นฐานเดินหน้าตามแผนแต่ต้องเกาะติด คาด 1 เดือนเคลียร์ภาพชัด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)
เปิดเผยการประชุม กพอ.ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า กรณีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในขณะนี้ โดยการลงทุนยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะ 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก (EEC Project List) ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภา

“โครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการที่เราได้เซ็นสัญญากับเอกชนร่วมทุนแล้วก็เริ่มเข้าสู่การก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่แล้ว นายกฯ เองก็กำชับให้ดูแลขับเคลื่อนไปข้างหน้า อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ก็ยังมีต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าหากการสู้รบและการคว่ำบาตรนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยค่อนข้างมากก็อาจจะมีผลกระทบต่อการลงทุนได้จึงต้องติดตาม ก็คิดว่าคงเห็นภาพชัดเจนขึ้นในระยะ 1 เดือนนี้ ส่วนที่มีผลกระทบจริงน่าจะเกิดจากโควิด-19 ที่กระทบต่อการท่องเที่ยวที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาตามที่คาดไว้ในปีนี้ ก็จะกระทบบางโครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้ว เช่น รถไฟ เพราะจำนวนคนนั่งจะลดลงก็กำลังดูอยู่ ส่วนโครงการธีมปาร์กและสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์สแห่งแรกของโลกที่จะเปิดตัวระยะที่ 1 วันที่ 8 เม.ย.นี้ก็คงต้องขอดูทิศทางโควิดและสงครามอาจต้องเลื่อนออกไป 1-2 เดือน” นายคณิศกล่าว

สำหรับการประชุม กพอ.รับทราบโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) ในพื้นที่นำร่อง อย่างน้อย 10 ชุมชน เช่น จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง ฯลฯ โดยมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ คาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 นี้

ขณะที่การพิจารณาสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อดึงการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซีแก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน 

โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซีเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ.ยังได้พิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 คาดว่า จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศมากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น