“เพจเพื่อไทย” โพสต์โชว์กึ๋น “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” ดันสร้าง “นวัตกรรมทางการเมือง” แก้ปัญหาประเทศ-ปชช. ระบุพรรคการเมืองยุคใหม่ ต้องปรับตัว เน้นรู้แก่นปัญหา-วิเคราะห์ข้อมูล เหมือนสมัย “ไทยรักไทย” ที่เกาะติดพื้นที่ ก่อนคลอดนโยบายตอบโจทย์ประเทศ-ปชช.
วันนี้ (2 มี.ค.) แฟนเพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับกิจกรรมเวิร์กชอปในหัวข้อ “คิด-เปลี่ยน-โลก สร้างโลกที่ดีกว่าและแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นที่พรคคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 65 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรค และ ส.ส.ร่วมกิจกรรม
แฟนเพจพรรคเพื่อไทย ระบุด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวบรรยายโดย นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท Fire One One และที่ปรึกษาด้าน Business Transformation เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) สำหรับนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน
โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวบรรยายว่า หัวใจของกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) เริ่มต้นที่การเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง เข้าใจมนุษย์ เข้าใจคน เพื่อเรียนรู้ปัญหาให้ถึงแก่น จนได้มาซึ่งวิธีการแก้ปัญหา (Solution) โดยมองว่า พรรคเพื่อไทย สามารถนำเอากระบวนการคิดเชิงนวัตกรรม มาสร้างนวัตกรรมทางการเมือง (Political Innovation) ผ่าน ส.ส. และสมาชิกในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีรากจากพรรคไทยรักไทย ได้ใช้วิธีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาเพื่อให้เข้าใจปัญหา จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้สำเร็จผ่านหลากหลายนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
“แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พรรคการเมืองจึงต้องมีการปรับวิธีการเก็บข้อมูล ที่ต้องมาจากประชาชนและการรับฟังเพื่อเข้าใจปัญหาที่แท้จริง นำมาผ่านกระบวนการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี ผ่านวิธี DIWK” น.ส.แพทองธาร ระบุ
น.ส.แพทองธาร กล่าวถึงวิธี DIWK ว่ามี 4 ขั้นตอนได้แก่ 1. D : Data จัดเก็บข้อมูลดิบ 2. I : Information ประมวลผลออกมาข้อมูลที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 3. W : Wisdom ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหา และ 4. K : Knowledge ใช้องค์ความรู้ในการสร้างนโยบาย เมื่อผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอน จะได้มาซึ่งสมมติฐาน (Hypothesis) แล้วจึงนำมาสร้างวิธีการแก้ปัญหา (Solution) ออกมาเป็นนโยบายใหม่ๆ ต่อไป
“พรรคเพื่อไทยสานต่อแนวคิดการลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนทั่วประเทศของพรรคไทยรักไทย ก่อนนำเสนอเป็นนโยบาย ซึ่งในขณะนี้ ในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เรายังไม่เปลี่ยน คือ การรับฟังและการค้นหา รากของปัญหาที่แท้จริง เป็นกระบวนการคิดใหม่ที่พรรคการเมืองควรเพิ่มเสริมเข้าไปเพื่อตอบสนองสนองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศ” น.ส.แพทองธาร กล่าว