ส.อ.ท.เผยวิกฤตขาดแคลนแรงงานระดับเข้มข้น 7 แสนคนหนุนรัฐเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU จากเพื่อนบ้านโดยเร็ว พร้อมลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับการกลับมานิรโทษกรรมด้านแรงงานอีกครั้งเพื่อแก้ไขแรงงานผิดกฎหมาย และการเร่งสกัดการลักลอบเพื่อแก้ไขทั้งระบบหวั่นล่าช้ากระทบ ศก.
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลได้มีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ขณะนี้ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งภาคการผลิต ส่งออก และก่อสร้างยังคงประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานโดยรวมประมาณ 7 แสนคน โดย ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงแรงงานเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวจะกดดันต่อปัญหาดังกล่าวมากขึ้น และที่สุดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
“เราทำหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว และเมื่อมีการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเราก็ได้นำเสนอปัญหานี้มาตลอดว่าจะต้องเร่งแก้ไข เพราะขนาดภาคบริการและท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวนักการขาดแคลนยังสูง หากกลุ่มนี้ฟื้นตัวปัญหาจะวิกฤตขึ้น โดยแรงงานที่ต้องการเพิ่มส่วนหนึ่งจากการเติบโตภาคส่งออก ขณะที่งานในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำจึงต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และก่อนหน้านี้ไทยมีแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคน แต่พอมีไวรัสโควิด-19 ระบาดแรงงาน 5-6 แสนคนได้เดินทางกลับประเทศและยังคงไม่เข้ามา” นายสุชาติกล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขที่สำคัญ คือ 1. เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติซึ่งถูกกฎหมาย (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ภายใต้ MOU โดยเร็วและสะดวกที่สุด โดย ส.อ.ท.ได้เสนอให้มีการเจรจาระดับรัฐมนตรีไทยกับเมียนมาต่อประเด็นดังกล่าวเพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เนื่องจากพบว่าการนำเข้าแรงงานจากเมียนมาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกัมพูชา และลาว
2. ขอให้พิจารณาเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและลดค่าใช้จ่ายที่ปัจจุบันการนำเข้าจะต้องให้แรงงานทำการตรวจหาไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR (Real Time PCR) โดยได้เสนอขอเปลี่ยนเป็นการตรวจแบบเร่งด่วน หรือ Antigen Test Kit (ATK) รวมถึงการที่ต้องกักตัวแรงงาน 7-14 วันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นเพียง Test and Go แทน เป็นต้น
3. ให้มีการประกาศนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายและนายจ้างแรงงานผิดกฎหมายอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่ดำเนินมาแล้ว 2-3 ครั้งเพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมาย
“โดยธรรมชาติเมื่อขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายจะมีกระบวนการนำเข้าผิดกฎหมาย เมื่อเรานำเข้าภายใต้ MOU ที่ถูกกฎหมายยังไม่สะดวกนักก็ควรเปิดนิรโทษกรรมอีกครั้ง โดยเรายืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนแรงงานผิดกฎหมาย แต่เพราะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะป้องกันด้านสาธารณสุขที่แรงงานเหล่านี้อาจนำเข้ามาและยังแก้ปัญหาความมั่นคงแต่ต้องเร่งรัดนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายให้เร็วสุด รวมถึงสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ามาควบคู่ไปก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุชาติกล่าว
สำหรับกรณีที่ไทยกำลังประสบภาวะค่าครองชีพสูงทำให้มีการมองว่ารายได้ของลูกจ้างไม่เพียงพอต่อรายจ่ายส่งผลให้มีแรงงานบางกลุ่มเสนอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปสู่ระดับ 492 บาทต่อวันนั้น นายสุชาติกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีกฎหมายรองรับ โดยมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา และกลไกการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปรับขึ้นจะคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถนายจ้างจ่าย ความเดือดร้อนของลูกจ้าง การเติบโตเศรษฐกิจประเทศ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งหากการขึ้นค่าแรงตอบโจทย์ทั้งหมดไม่มีปัญหาสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใช่อยากขึ้นเท่านั้นเท่านี้แต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนก็คงไม่ได้