xs
xsm
sm
md
lg

หัวละหมื่น! ปัญหาแรงงานพม่า "ขบวนการนายหน้าหัวคิว" รัฐต้องแก้ให้โปร่งใส ระเบิดเวลาที่ต้องรีบปลดชนวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน และต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน สภาพเศรษฐกิจไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดประชากรจากประเทศเหล่านั้นเข้ามาค้าขายแรงงาน เพื่อแลกกับฐานะความเป็นอยู่ที่ดีกว่า แม้จะต้องเสี่ยงกับอันตราย การถูกจับกุม หรือค่าหัวคิวที่สูงลิ่วจากนายหน้าทั้งสองฝั่งเขตแดน แต่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทยก็ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่มีอยู่อย่างปกติทุกวัน และเป็นปัญหาเรื้อรังให้กับประเทศไทย ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคระบาด ก็ยิ่งสร้างภาระหนักขึ้นเป็นทวีคูณให้กับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม ขณะที่ภาครัฐกลับไม่เร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างยั่งยืน

ทำให้โปร่งใส เปิดเผยขั้นตอน ดูแลเรื่องโควิดแบบ One stop service จะทำให้แก้ปัญหาระยะยาว แรงงานต่างด้าวเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตและการบริการบางประเภท ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำ ขณะที่ความต้องการแรงงานมีมากถึง 500,000 คน แต่แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่สามารถเข้ามาได้อย่างสะดวก จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยมีการหักค่าหัวคิว 2 ต่อทั้งจากฝ่ายประเทศเพื่อนบ้านที่จัดหาแรงงานเข้ามา อย่างน้อยรายละ 10,000 บาท และต้องจ่ายให้กับนายหน้าที่อยู่ในประเทศไทยอีกในราคาเดียวกัน ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา ซึ่งหากไทยมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ค่าหัวคิวและค่านายหน้าก็จะเพิ่มตามไปด้วย เรียกว่ากินกันทุกเม็ดเป็นขบวนการ

แต่หากนำโจทย์ความต้องการขายแรงงานของประเทศเพื่อนบ้าน กับความขาดแคลนแรงงานในประเทศเราเอง เสริมด้วยความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจ มาคลี่ออก ก็น่าจะแก้ได้อย่างลงตัว โดยมีภาครัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันการดำเนินการอย่างเป็นระบบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเคยเสนอแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ห็นการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนออกมา

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจจำนวนความต้องการแรงงานที่แท้จริง เปิดเสรีนำเข้าแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้อง ผ่านระบบคัดกรอง กักตัวตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเทคโนโลยีในการลงทะเบียน และเก็บข้อมูล ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนลง รวมถึงลดค่าธรรมเนียมการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งจะมีผลช่วยลดการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายลง นอกจากนี้ ในระยะยาวก็ยังต้องพัฒนาแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีทักษะชั้นสูง เพื่อตอบโจทย์กับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับสากลด้วย

การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงช่วยประเทศในมิติด้านแรงงานและอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังช่วยในมิติของสิทธิมนุษยชน ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่ถูกจับตามองด้านการค้ามนุษย์ รวมถึงมิติของสุขภาพ ที่จะช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายของโควิด-19 ด้วย

หาก 6 เดือนแรกของปี 2565 ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนำเข้าที่ถูกกฎหมาย ประเทศไทยจะต้องเจอกับวิกฤตการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนมาตามแนวชายแดนอย่างหนัก ซึ่งยากต่อการตรวจสอบและคัดกรอง จะยิ่งสร้างปัญหามากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และจะยิ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ไม่เพียงทำลายระบบเศรษฐกิจ แต่ยังทำลายความมั่นคงและคะแนนนิยมของรัฐบาลลงไปอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น