xs
xsm
sm
md
lg

ติด "วัณโรค" ใหม่ปีละแสน คาด 1ใน 3 มีเชื้อแฝง ห่วงกลุ่มภูมิต่ำ เอชไอวี เรือนจำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.จับมือ อว.-ศิริราช ลุยปราบ "วัณโรค" ในปี 73 เผยติดเชื้อใหม่ปีละแสนราย ห่วง 1 ใน 3 ติดเชื้อไม่รู้ตัว เหตุไม่มีอาการ ยังห่วงคนติดเชื้อเอชไอวี คนมีภูมิต่ำ ผู้ต้องขัง

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดการยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงของประเทศไทย ต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ร่วมลงนามปี 2561 สิ้นสุดปี 2564 ระหว่าง สธ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีอีกโรคสำคัญที่เป็นความท้าทาย คือ วัณโรค แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ และต้องจัดการไปพร้อมกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค ทั้งความยากจน ความเปราะบางและชนชายขอบ ภาวะทุพโภชนาการ กลุ่มเสี่ยง เช่น เรือนจำ แรงงานข้ามชาติ และพื้นที่บริเวณชายแดน ดังนั้น จึงลงนามเพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันยุติการแพร่ระบาดให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 เพื่อยุติวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคที่มีเอชไอวีร่วม ซึ่งล่าสุด ปีที่แล้วองค์การอนามัยโลกได้ถอดประเทศไทยออกจากประเทศที่จับตาจากวัณโรคแล้ว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง มีสาระสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาห้องปฏิบัติการด้านวัณโรคให้มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ 2.เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านวัณโรคทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.ร่วมมือ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการป้องกัน ค้นหา วินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝงสู่การยุติปัญหาวัณโรค 4. สนับสนุนการค้นหา วินิจฉัย และพัฒนาระบบการจัดบริการตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง 5.จัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค วัณโรคดื้อยา และวัณโรคระยะแฝง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคในไทย พบติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกกำหนดว่าต้องรักษาหายเกิน 85% ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยบรรลุแล้ว ซึ่งตามปกติการกินยารักษาวัณโรคมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และต้องกินต่อเนื่อง 6 เดือน จึงรักษาหายขาด ทำให้ส่วนหนึ่งเลิกกินยา กินยาต่อไม่ได้ และเสียชีวิต แต่กรมควบคุมโรค สธ. และศิริราชได้ร่วมกันพัฒนาระบบดูแลการกินยาของผู้ป่วยให้สามารถกินยาได้ครบตามกำหนด จนรักษาหายเพิ่มบึ้น อุบัติการณ์ลดลง ส่วนปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานมีการหายาที่มีประสิทธิภาพและวินิจฉัยดีขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 4 พันคน

"วันนี้ยังไม่ถือว่าวัณโรคเป็นที่ยุติ เพราะวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง ไม่เหมือนโควิดที่ติดเชื้อไม่นาน แต่วัณโรคติดเชื้อเป็นปียังไม่รู้ตัวว่าติด บางรายไม่มีอาการ ประมาณการณ์ว่าคนไทย 1 ใน 3 ติดเชื้อวัณโรคอยู่ ส่วนใหญ่ไม่มีการ ส่วนที่มีอาการมีประมาณ 5-10 % จึงต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมโรค โดยกลุ่มที่ยังน่าห่วงคือกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วม ภูมิต้านทานของร่างกายไม่ดี เรือนจำ เป็นต้น ขอย้ำว่าคนที่กินยาครบตามที่กำหนดนั้นไม่ใช่แค่การปราบโรคให้สงบเท่านั้น แต่เป็นการรักษาให้หายขาดได้ และเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมตรวจดูแลผู้ป่วยในโครงการ 3 หมอ" นพ.โอภาสกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น