xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตแรงงานกับการขึ้นค่าจ้างปี 65 เส้นทางวิบากฝ่าวิกฤตค่าครองชีพแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วง ก.พ.-มี.ค.ของทุกปีมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีเด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้กับระบบตลาดแรงงานไทย โดยปี 2565 คาดว่าจะมีเด็กจบใหม่เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 5.11 แสนคน.... ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ดำเนินมาแล้ว 2 ปีแม้วันนี้จะดูทุเลาลงเพราะสายพันธุ์ "โอมิครอน" ไม่ได้รุนแรงมากแต่ก็ยังคงมีการระบาดอยู่ต่อเนื่องทำให้บรรยากาศของพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงออกไป

 สำหรับเด็กจบใหม่แล้ว นี่คือ ... เส้นทางเริ่มต้นชีวิตในการประกอบอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางของพวกเขาไม่ได้สดใสนักเมื่อเทียบกับเด็กที่จบมาในช่วงยุคก่อนเกิดโควิด-19 หรือแม้กระทั่งช่วงวิกฤตปี 2540 ด้วยเพราะพิษโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีชะลอตัวลงและกระทบต่อผู้ประกอบการค่อนข้างมาก แม้ว่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วแต่ภาคธุรกิจต่างๆ ยังอยู่ในภาวะประคองตัว การรับแรงงานเพิ่มยังไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้คนไทยหลายแสนคนต้องตกงานโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการ เวลานี้แม้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแต่ก็ต้องกลับมาเผชิญภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง วัตถุดิบ ฯลฯ เรียกว่าปัจจัยเก่ายังไม่จาง ปัจจัยใหม่ก็เข้ามาเพิ่มเติม

ขณะที่ฝั่งลูกจ้างก็ยังต้องเจอภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้เริ่มมีเสียงสะท้อนจากแรงงานบางส่วนให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 โดยมีการโยนหินถามทางให้เป็นวันละ 492 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศเพื่อให้สะท้อนกับค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว .....โดยประเด็นแรงงานนับเป็นสิ่งที่น่าติดตามใกล้ชิดเฉกเช่นเดียวกับการขึ้นค่าแรง เพราะในช่วงที่ผ่านมาการเมืองมักนำประเด็นนี้มาหาเสียงกับประชาชนผู้ใช้แรงงาน และยิ่งกำลังใกล้ฤดูการเลือกตั้งกระแสนี้อาจถูกตอบสนองได้จากฝ่ายการเมืองเช่นกัน ….

ขึ้นค่าจ้าง โจทย์ใหญ่หนุนให้เฉพาะคนไทย

มุมมองของนายจ้างผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ จากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับไทยที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มจากราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าที่แพงทำให้ค่าครองชีพประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้มีแรงงานบางส่วนได้ออกมาเรียกร้องฝ่ายการเมืองให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพที่สูง

“ต้องยอมรับว่าการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงในช่วงของแพงนั้นบังเอิญเป็นช่วงจังหวะที่กระแสการเมืองเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้าและพรรคใหญ่ๆ อดีตก็มีการชูเรื่องการขึ้นค่าแรงเอาไว้ เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการทวงถามเกิดขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าน่าเห็นใจผู้ใช้แรงงานปัจจุบันเนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพแพงทั้งค่าพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ แต่หากมองในแง่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ก็เจอผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องมา 2 ปีโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการพอจะเริ่มฟื้นตัวก็ต้องเจอกับต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหารือกันผ่านคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยรัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง ที่มีการรวบรวมข้อมูลแต่ละจังหวัดเสนอเข้ามาพูดคุยกันตามข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ เห็นว่าหากจะปรับขึ้นควรจะพิจารณาให้เฉพาะคนไทยเนื่องจากที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรงกฎหมายกำหนดให้ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่เท่าเทียมกันซึ่งแรงงานเหล่านี้มีค่าครองชีพที่ต่ำเนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ดูแลที่อยู่อาศัยให้อยู่แล้ว ประกอบกับเมื่อได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นแรงงานเหล่านี้ไม่ได้นำเงินไปใช้หมุนเวียนเศรษฐกิจในไทยแต่มักจะนำเงินส่งกลับไปยังภูมิลำเนา นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องร่วมกันคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

เช่นเดียวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศยิ่งเป็นอะไรที่ยากที่จะดำเนินการได้เพราะแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพที่ต่างกันและอาจกระทบต่อกิจการที่ต้องพึ่งพาแรงงานเข้มข้นที่จะยิ่งผลักดันให้กิจการเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกัน หาก 2 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ะระบาดไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการมีการปิดกิจการไปจำนวนไม่น้อย ธุรกิจเดิมที่ยังคงเหลืออยู่บางส่วนได้ลดจำนวนพนักงานลงไปโดยเฉพาะท่องเที่ยวและบริการก็เป็นแรงกดดันให้การรับคนงานเพิ่มขึ้นยังมีจำกัด

“เด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาเติมในระบบอีกในปีนี้ผมมองว่ามีโอกาสสูงที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีงานทำยกเว้นผู้ที่จบในสาขาที่เป็นเป้าหมาย เช่น คอมพิวเตอร์ ดิจิทัล วิศวกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น” นายเกรียงไกรกล่าว

แนะดูแลเด็กจบใหม่ 5.1 แสนคน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า 1-2 เดือนนี้จะเริ่มมีเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานอีกราว 5.11 แสนคน เป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากตลาดแรงงานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะประคองตัว ความต้องการแรงงานใหม่ยังต่ำเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเร่งหามาตรการดูแล

ทั้งนี้ สะท้อนจากตัวเลขการว่างงานจากระบบประกันสังคม ม.33 พบว่าแรงงาน 4.9 แสนคนที่หายไปจากระบบยังคงไม่กลับมา และเมื่อรวมกับอัตราการว่างงานแฝงทำให้ไทยยังคงมีแรงงานว่างงานรวมกันอยู่ที่ราว 1.1-1.2 ล้านคน โดยภาพรวมตัวเลขเริ่มมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนแม้จะไม่รุนแรงประกอบกับรัฐมีการเปิดระบบลงทะเบียนเพื่อรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go อีกครั้งเมื่อ 1 ก.พ. 2565 จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มบ้างแต่ก็ยังไม่อาจขับเคลื่อนการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

“เราเหมือนเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต คือ วิกฤตโควิด-19 จากนั้นเราก็เจอวิกฤตค่าครองชีพแพง ทุกอย่างขึ้นหมดจากผลกระทบราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมทำให้ซัปพลายมีไม่ทันกับดีมานด์ ซึ่งสิ่งนี้เราหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะเราต้องนำเข้าเป็นหลัก ผู้ประกอบการเองก็ยังต้องประคองตัว แต่ปัญหาว่างงานของคนไทยเองก็มี 2 สภาวะคู่กัน คือ ขณะที่แรงงานส่วนหนึ่งตกงาน แต่แรงงานระดับไร้ทักษะกลับขาดแคลนทำให้ต้องพึ่งพิงแรงงาน 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทยอยเข้ามาแต่ก็ยังไม่พอตีอความต้องการ” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาล่าสุดที่อาจแทรกซ้อนเข้ามาคือการเริ่มมีเสียงเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 เป็นวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศ และให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบหลังค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังกังวลว่าอาจกลายเป็นประเด็นการหาเสียงจากพรรคการเมืองได้ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้กลไกไตรภาคีเป็นสำคัญ

“เข้าใจความเดือดร้อนแรงงานที่ค่าครองชีพสูงมากแต่การขึ้นค่าแรงทันที 492 บาทต่อวันนั้นเป็นอะไรที่ค่อยข้างยากมากเพราะค่าแรงเฉลี่ยจะขึ้นทันที 100 กว่าบาทต่อวันซึ่งจะกลายเป็นฐานเงินเดือนที่ขยับทั้งระบบยิ่งจะทำให้นายจ้างพังแน่ ผมเห็นว่าหากจะช่วยเหลือแรงงานลดค่าครองชีพจริงควรจัดทำเป็นโครงการช่วยเหลือออกมาในรูปแบบใดก็ได้จะดีกว่า” นายธนิตกล่าว




นักวิชาการหนุนขึ้นค่าแรงแต่ต้องดูให้ครบทุกมิติ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้มีการกล่าวแสดงความเห็นไว้เกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นท่ามกลางค่าครองชีพของประชาชนที่สูงเพื่อที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่การจะเพิ่มขึ้นเท่าใดนั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพของแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ

"สิ่งที่สำคัญคือการปรับขึ้นค่าแรงนั้นต้องไม่ไปทำให้เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนของภาคการผลิตมากจนเกินไปจนนำไปสู่การเพิ่มปัญหาของการว่างงาน การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี" นายอนุสรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือทำให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงประสงค์ของค่าแรงงานขั้นต่ำ ก็เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐเป็นผู้พิจารณากำหนด และควรมีกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำพื้นฐานเป็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้กำหนดอัตราของตนเอง หรือหากไม่ใช้วิธีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ

“ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตในระดับปานกลาง ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของแรงงานก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายอนุสรณ์กล่าว

ปี 2565 ภาวะการว่างงานของคนไทยมีแนวโน้มจะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่ภาพรวมก็ไม่ได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญเพราะธุรกิจต่างๆ ยังคงต้องประคองตัวให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตที่โอมิครอนยังคงอยู่ และต้นทุนที่สูงขึ้นรอบด้าน ข้อเสนอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพจึงเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนักสำหรับทุกฝ่ายท่ามกลางสารพัดวิกฤตรุมเร้า...


กำลังโหลดความคิดเห็น