อคส.จับมือเอกชนเมียนมาลงนาม MOU ตั้งคลังสินค้า เป็นการขยายสาขาไปต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 62 ปี เผยจะใช้เป็นแหล่งรวมสินค้าไทยก่อนกระจายขายผู้ซื้อในเมียนมา เล็งศึกษาตั้งในจีน อินเดีย ชาติอาหรับ และเพิ่มสาขาในไทย พร้อมลุยพัฒนาคลังสินค้า เพิ่มรายได้ ทั้งที่ราษฎร์บูรณะ และลพบุรี
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา อคส.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Maha Shwe Ngwe จำกัด จากประเทศเมียนมา เพื่อร่วมกันหาช่องทางร่วมลงทุนสร้างคลังกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมา เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนไทย รวมถึงผลักดันยอดส่งออกสินค้าไทย แก้ปัญหาการค้าชายแดนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด รวมถึงรองรับการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ในตลาดเมียนมา โดยถือเป็นการขยายสาขาคลังสินค้าในต่างประเทศของ อคส.เป็นแห่งแรก นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2498 เป็นต้นมา หรือในรอบ 62 ปี
ทั้งนี้ หลังจากที่ลงนาม MOU กับเมียนมาแล้ว อคส.เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อเดินหน้าโครงการอีก โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาหรับ มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนให้มีการส่งสินค้าไทยไปประเทศดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในรูปแบบ Just-in-Time สร้างความได้เปรียบ และแตกต่างจากประเทศคู่แข่งให้เอกชนไทย
ขณะเดียวกัน อคส.มีแผนการร่วมมือส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองกับเมียนมา ซึ่งไทยต้องนำเข้าปีละกว่า 2 ล้านตัน และกากถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกกว่าปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรไทย ที่สำคัญ ไม่ถือว่าเป็นการทำการค้าแข่งกับภาคเอกชนของไทย เพราะไทยมีผลผลิตถั่วเหลืองน้อยมากไม่ถึงปีละ 0.1 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการปลูกเมื่อเทียบกับเมียนมา
นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ แก้มลิง++ ของ อคส. จะเร่งเพิ่มจำนวนสาขาของคลังสินค้า อคส.ในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อล้างการขาดทุนสะสมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยคลังสินค้าราษฎร์บูรณะ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นเรือธงหลักของ อคส.ที่จะนำมาสร้างรายได้ ล่าสุดอยู่ในระหว่างการขอขยายใบอนุญาตทำห้องเย็นเก็บสินค้า หากได้รับการอนุมัติและสร้างห้องเย็นใหม่ๆ เต็มพื้นที่ จะสามารถรองรับสินค้าได้กว่า 50,000 ตัน และจะพลิกฟื้นฐานะของ อคส.ให้กลับมามีกำไรได้อย่างมั่นคง รวมทั้งยังสร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องให้ อคส.ได้มากกว่า 8,000 ล้านบาท จากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของคลังราษฎร์บูรณะเมื่อสร้างเต็มพื้นที่
นอกจากนี้ จะเร่งเพิ่มสาขาที่คลังข้าวลพบุรี ซึ่งเป็นที่ดินของธนารักษ์ 22 ไร่ สามารถสร้างโรงอบ โรงสี โรงแป้งข้าวเจ้าได้ ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายชาวนาปลูกข้าวขายแป้ง และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ เพราะถ้าขายเพียงข้าวสาร จะได้ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 15 บาท แต่ถ้าทำเป็นแป้งข้าวเจ้า จะได้ราคาสูงขึ้นเป็นกก.ละ 30 บาท ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่ชาวนาในพื้นที่ที่มีกว่า 10,705 ครอบครัวได้ และช่วยลดภาระงบประมาณที่รัฐจะต้องช่วยเหลือได้ถึงปีละกว่า 700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีแผนที่จะเพิ่มสาขาของ อคส.ในภูมิภาคอื่นๆ เช่น คลังแพะ ที่ จ.กระบี่, คลังวัว จ.สุรินทร์, คลังอาหารทะเล จ.อุดรธานี เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทรัพย์สินเดิมของ อคส. เช่น คลังธนบุรี คลังปากช่อง และคลังบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเตรียมนำรายละเอียดของโครงการต่างๆ เสนอให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) อคส.) พิจารณาเห็นชอบเร็ว ๆ นี้