xs
xsm
sm
md
lg

“แรงจูงใจเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์” ที่รัฐควรดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รศ.ดร.ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย
คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ

การบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ได้เห็นรัฐใช้วิธีการ “ตรึงราคาขาย” ปลายทาง ด้วยเหตุผลว่าเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งดูเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และผลักภาระไปให้ผู้ผลิตสินค้านั้นๆ รับความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนเอาไว้ กลายเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม และสะสมเป็นปัญหาในระยะยาว
ยกตัวอย่าง การตรึงราคาขายเนื้อสัตว์ที่รัฐคำนึงเพียงราคาขายปลายทาง เช่น กำหนดให้เกษตรกรผู้ผลิตเนื้อไก่สามารถขายเนื้อไก่ได้ในราคา 40 บาท/กก. หรือขายไข่ไก่ได้เพียงฟองละ 2.90 บาท/กก. (ณ 28 กุมภาพันธ์ 2565) นั้น หากต้นทุนของเกษตรกรต่ำกว่านี้คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ? เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อโลกต้องเผชิญวิกฤตสงครามยูเครน ก็ยิ่งทำให้วัตถุดิบหลายชนิดพุ่งสูงขึ้นอีก อาทิ ข้าวสาลี เมล็ดถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
หากการตรึงราคาปลายทางของสินค้าเช่นนี้ยังคงอยู่ ย่อมกระทบต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตเนื้อสัตว์ต้องปิดกิจการ หรือลดกำลังการผลิตลง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ต้องเผชิญภาวะขาดทุนนี้ มีความแตกต่างจากการขาดทุนของการใช้แรงงานการผลิตทั่วไป เนื่องจากเป็นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเป็นตัวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้การทำงานอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น หากไม่มี “กำไร” มาสร้างแรงจูงใจในการผลิต หรือรับความเสี่ยง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์นี้ล้มละลาย อย่าลืมว่า สินค้าปศุสัตว์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์หลักให้ประเทศ นโยบายแบบเอาใจเกษตรกรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มพืชไร่หรือกลุ่มที่อยู่ต้นน้ำ โดยไม่คิดการเชื่อมโยงกันของผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่ จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ผลิตกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งกลายเป็น “ตัวอุปสรรค” ฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจเนื้อสัตว์
การตรึงราคาสินค้าจึงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา เนื่องจากก่อให้เกิดความไม่ยุติกรรมในการผลิต ซึ่งสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจะลดความสามารถทางการแข่งขันด้านแรงงานและเทคโนโลยี อย่าลืมว่าภาคการผลิตสัตว์ เป็นการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยี ทักษะแรงงาน การประกันด้านสุขอนามัย เหมือนกับอุตสาหกรรมทั่วไป ดังนั้น ราคาสินค้าควรสะท้อนต้นทุนจริงๆ ไม่ใช่ราคาประกันสินค้าแบบภาคพืชไร่ การเอาการเพาะปลูกมาใช้ร่วมกันการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ชี้ให้เห็นว่านโยบายนี้สร้างภาระให้แก่ฟาร์ม ดังนั้น ควรที่จะให้ราคาขายสะท้อนต้นทุน บวกกับผลตอบแทนที่มีแรงจูงใจ และคำนึงการเปลี่ยนแปลงอัตราการบริโภค ซึ่งหมายถึงให้หลักอุปสงค์-อุปทานเป็นตัวขับเคลื่อน

อีกประเด็นคือ การดูแลราคาสินค้าเกษตร ควรที่จะทำให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มเดียวกันของตัวสินค้าในการลงทุน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยพิจารณาฐานการผลิตแบบคลัสเตอร์อุตสาหกรรม มากกว่าการประกันราคาที่ใช้กับสินค้าพืชไร่อยู่ ซึ่งมีข้อตกลงกันของเกษตรกร ฟาร์ม และเครือข่ายการขายส่ง โดยเฉลี่ยค่าน้ำหนักของปริมาณการเพิ่มมูลค่า (จากความสามารถในการผลิตและการสร้างผลลัพธ์) คือการผลิต-การลงทุน-การจำหน่าย ต้องเอามาพิจารณาให้หมด ทั้งจากเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ พ่อค่าพืชไร่ โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เขียงหรือผู้ค้าส่ง แล้วมาดูตัวเลขของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในการใช้แรงงาน หรือเทคโนโลยีของแต่ละข้อต่อการผลิต หลังจากนั้นจึงจะสามารถดำเนินการผลิต ไม่ใช่ปล่อยให้การผลิตพัฒนาไปตามยถากรรม หรือแทรกแซงแล้วส่งผลต่อเนื้อสัตว์
ดังนั้น การอนุม้ติการลงทุน การผลิต จึงต้องอยู่บนเงื่อนไขข้อตกลงแบบคลัสเตอร์การผลิต จึงจะทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน และทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตอย่างก้าวหน้า และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงเขตการผลิตของแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐมีหน้าที่แค่เป็นกรรมการในการให้แต่ละฝ่ายนั้นปฎิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ไม่ใช่มีหน้าที่ไปกำหนดราคาควบคุม หรือตรึงราคาขายแบบที่เป็นอยู่










กำลังโหลดความคิดเห็น