กรมเจ้าท่าเผยสูบน้ำมันขึ้นจากเรือ ป.อันดามัน 2 ที่อับปางกลางทะเล จ.ชุมพร หมดแล้ว ส่วนการกู้เรือยังติดสภาพอากาศ ยันพร้อมปฏิบัติภารกิจทันทีเมื่อคลื่นลมสงบ
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เรือ ป.อันดามัน 2 ทะเบียนเรือ 449201184 ขนาด 325 ตันกรอส ประเภทการใช้บรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง (น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเบา สามารถระเหยและสลายตัวได้เร็ว) เจ้าของเรือชื่อ บริษัท ไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมง จำกัด อับปางลงกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือเข้าสำรวจตัวเรือ พร้อมกู้สินค้าและตัวเรือโดยด่วน ทั้งนี้ การกู้เรือทางบริษัทฯ ได้ทำการจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการภายใต้ความปลอดภัยและลดผลกระทบทางด้านแวดล้อมในทะเลให้น้อยที่สุด โดยกรมเจ้าท่าได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการกู้เรือและขจัดมลพิษน้ำมัน เพื่อประเมินสถานการณ์ วางแผนการกู้เรือ และป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดยุทธวิธีป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน
กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ หรือผู้ประกอบกิจการเดินเรือ ระมัดระวังในการเดินเรือ บริเวณอ่าวไทย จังหวัดชุมพร ละติจูด 10 องศา 36.06 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 99 องศา 38.35 ลิปดาตะวันออก และออกคำสั่งห้ามใช้เรือ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และออกคำสั่งให้เจ้าของเรือลำดังกล่าวเร่งดำเนินการกู้เรือ พร้อมจัดหาทุ่นกักเก็บน้ำมัน (Boom) และน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ตามมาตรการและแผนการดำเนินการป้องกันเหตุ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามเฝ้าระวังคราบน้ำมัน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือส่งยานสำรวจใต้น้ำ พบว่าสภาพตัวเรือไม่ได้รับผลกระทบต่อแรงดันใต้น้ำ ในส่วนของคราบน้ำมันประเมินจากภาพถ่ายของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA การบินสำรวจโดยอากาศยานของกองทัพเรือ และการตรวจการณ์ทางทะเลด้วยเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงบางระจัน ของกองทัพเรือ สำรวจบริเวณจุดพื้นที่เรืออับปางพบเพียงคราบน้ำมันเป็นฟิล์มบางๆ สามารถระเหยและสลายตัวได้เอง
สำหรับแผนการกู้เรือ บริษัท พี.เค.มารีนฯ ได้นำเรือบาสเครน พีเคมารีน 101 และเรือลากจูง พีเคมารีน 11 ติดตั้งอุปกรณ์และเตรียมความพร้อมตามแผนการกู้เรือ โดยให้นักประดาน้ำสำรวจ ตรวจสอบตัวเรือ อุปกรณ์ และประเมินสถานการณ์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเรืออยู่ในลักษณะนอนตะแคงข้างกราบขวา กราบซ้ายตั้งขึ้น ซึ่งต้องนำเรือเครนเข้ายึดติดกับตัวเรือที่จมเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัว จากนั้นทำการเช็กฝาปิดวาล์ว อุดรอยรั่วของถังทุกจุด และทำการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อทำการดูดน้ำมัน รวมถึงช่องระบายอากาศและจะเริ่มทำการดูดน้ำมันทีละถัง โดยเตรียมอุปกรณ์เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ ทุ่นกักเก็บน้ำมัน (Boom) น้ำยาขจัดคราบ (Dispersant )
ปัจจุบันได้ทำการสูบน้ำมันขึ้นจากเรือ ป.อันดามัน 2 เรียบร้อยแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 4 ถังใหญ่ โดยแบ่งเป็นถังย่อยดังนี้ กราบซ้ายจำนวน 4 ถัง กราบขวาจำนวน 4 ถัง และได้ทำการสูบน้ำมันใส่เรือวีนัส 24 ทั้งหมดจำนวน 3 ถัง ได้ปริมาณน้ำมันรวมทั้งหมดโดยประมาณ 155,215 ลิตร บริษัทฯ สามารถควบคุมการกู้น้ำมันได้ตามแผนฯ ซึ่งไม่พบคราบน้ำมันในจุดที่เรือจม โดยได้วางแผนเพื่อดำเนินการกู้ตัวเรือในลำดับต่อไป
จากการที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพรได้ออกคำสั่งในการกู้เรือภายใน 15 วันตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2565 แต่ด้วยพื้นที่จุดที่เรือจมมีความลึกน้ำประมาณ 48 เมตร ประกอบกับขณะนี้สภาพอากาศไม่ปลอดภัยต่อการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการตามแผนฯ บริษัทจึงได้ขอขยายระยะเวลาในการกู้เรือ โดยจะดำเนินการตามแผนการกู้เรือ หลังจากสภาพอากาศและคลื่นลมมีความปลอดภัย และเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้เรือตรวจการณ์เจ้าท่า 1302 และเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินตามแผนการกู้เรือ ทั้งนี้ ในพื้นที่ไม่พบคราบน้ำมันพื้นที่จุดที่เรือจม และไม่ได้รับรายงานว่าพบคราบน้ำมันบริเวณชายหาด หรือชายฝั่งใกล้พื้นที่จุดที่เรือจมแต่อย่างใด
รองอธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนรวมถึงการเตรียมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งได้มีการฝึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางทะเล รวมถึงการดูแลป้องกันรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลจากคราบน้ำมันไม่ให้กระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำและประชาชน ซึ่งภารกิจการกู้เรือ ป.อันดามัน 2 เป็นการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การกำกับ ดูแลของกรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแล เกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและนโยบายของรัฐบาล และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าดำเนินการจัดการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่พี่น้องประชาชนอีกด้วย