กรมเจ้าท่าสำรวจทะเลระยองไม่พบคราบน้ำมัน บูรณาการเตรียม Beach Clean up เคลียร์พื้นที่ตลอดแนวชายหาด ฟื้นฟูคืนสภาพแวดล้อมสู่ระบบธรรมชาติเร่งประเมินค่าความเสียหาย ตั้ง 6 จุดรับเรื่องร้องทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบ
จากเหตุการณ์กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ซึ่งกรมเจ้าท่า (จท.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (แผนชาติ) เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบทั้งรัฐและเอกชน ในการขจัดมลพิษจากน้ำมันตามแผนชาติที่จัดทำโดยคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
นายภูริพัฒน์ ธีรกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยองว่า จากที่มีน้ำมันบางส่วนเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 โดยกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดเก็บและยับยั้งคราบน้ำมันดิบทั้งในทะเลและบนชายฝั่ง จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รวมระยะเวลา 8 วันนั้น
ปัจจุบันกรมเจ้าท่า พร้อมด้วยทัพเรือภาคที่ 1 ศรชล.จังหวัดระยอง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ได้ติดตามสถานการณ์ในทุกพื้นที่ ซี่งจากภาพถ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 802,804, 175 เรือเด่นสุทธิ และโดรนของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ลาดตระเวนพื้นที่ตั้งแต่โซน A (บริเวณกองพันทหารราบที่ 7 ถึงศูนย์วิจัยกรมประมง ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน B (บริเวณศูนย์วิจัยกรมประมง ถึงหาดแม่รำพึง ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน C (บริเวณหาดแม่รำพึง ถึงลานหินขาว ระยะทาง 2 กิโลเมตร)โซน D (บริเวณลานหินขาว ถึง เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ระยะทาง 2 กิโลเมตร) โซน E1 (บริเวณเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด) และโซน E2 (บริเวณเกาะเสม็ด) ยังไม่พบคราบน้ำมันในทะเลและบริเวณชายฝั่งแต่อย่างใด
กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด IESG และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ระยอง ได้หารือในเรื่องของการนำแผ่นดูดซับคราบน้ำมันขึ้นจากพื้นทราย เพื่อตรวจสอบคราบน้ำมันดิบและคืนพื้นที่ชายหาด ซี่งสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้นโดยตลอด ขั้นตอน Beach Clean up และเตรียมเข้าสู่ระยะการฟื้นฟูชายหาดเพื่อเคลียร์พื้นที่ชายหาดคืนสู่ระบบธรรมชาติและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยหลักเกณฑ์การลดระดับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปสู่ระยะแผนฟื้นฟู ต้องไม่พบคราบน้ำมันใหม่ในทะเล คราบน้ำมันบนชายฝั่งในทุกโซน A-E คราบน้ำมัน ผลจากการสำรวจใต้น้ำ ในทุกระยะ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และในพื้นที่อ่อนไหว ระยะเวลา 3 วันติดต่อกัน
ในระยะฟื้นฟูจะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน จะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน
สำหรับอำนาจหน้าที่ คณะอนุกรรมการฯ จะประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน/จัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดระยองได้ดำเนินการจัดตั้งจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีพบคราบน้ำมัน ณ บริเวณชายหาด บ้านสบาย สบาย รีสอร์ท ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ ดังนี้
1. ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดระยอง
2. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง
3. อำเภอเมืองระยอง
4. องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง
5. บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)
6. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง