กรมเจ้าท่าอนุมัติแผนปฏิบัติการ 3 ขั้นตอนอุดรอยรั่วท่อน้ำมัน SPRC กลางทะเลระยอง คาดดำเนินการเสร็จใน 11 วัน โดยไม่เกิดเหตุซ้ำครั้งที่ 3 พร้อมเร่งตรวจข้อกฎหมาย บทลงโทษ จ่อยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการท่าเรือ
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ด้านปลอดภัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไข ป้องกัน กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า วันนี้ (21 ก.พ. 2565) กรมเจ้าท่าได้อนุมัติแผนปฏิบัติการนำน้ำมันที่คาดว่าคงเหลืออยู่อีกประมาณ 12,000 ลิตร ออกจากท่อที่เสียหายและดำเนินการพันปิดรอยรั่ว และแผนการเตรียมการเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC นำไปเร่งดำเนินการ โดยบริษัทฯ จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 11 วัน เริ่มตั้งแต่การเข้าไปดำเนินการสูบน้ำมันที่ค้างท่อออกก่อน ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นเป็นการทำความสะอาดพื้นผิวและซีลปิดรอยรั่วให้เรียบร้อย
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ประชุมติดตามแผนดำเนินงาน โดยมีผู้แทนจากสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ตลอดจนรับฟังความเห็น และข้อสังเกตต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ วิศวกรเคมี ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ให้ผู้ประกอบการมีการฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนในการทำงานเชิงป้องกัน โดยศึกษาจากกรณีดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต
สำหรับแผนการปฏิบัติงานที่บริษัทฯ นำเสนอ แบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว 2. การดูดน้ำมันที่คงค้างออกจากท่อ 3. การพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ซึ่งการปฏิบัติการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และจากบริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน การประเมินและควบคุมความเสี่ยง และการกำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย
ในการนี้ บริษัทฯ ได้มีแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและการเตรียมการเฝ้าระวัง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน จำนวน 5 เส้น ความยาวเส้นละ 200 เมตร บริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เรือลากจูงจำนวน 10 ลำในการลากจูงทุ่นกักน้ำมัน
กลุ่มที่ 2 ติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันบนเรือลากจูง
กลุ่มที่ 3 ติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือ ศรีราชา ออฟชอร์ 881 ซึ่งสามารถเก็บน้ำมันได้ถึง 1 แสนลิตร/ชั่วโมง และเตรียมเรือสำหรับรับน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากท่อในทะเล ติดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั๊มสำหรับดูดน้ำมันออกจากเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล และประสานกองทัพเรือเตรียมเรือหลวงหนองสาหร่าย สำหรับเฝ้าระวังและบันทึกภาพงานใต้น้ำ พร้อมนักประดาน้ำอีก 24 นาย ซึ่งรองอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เน้นย้ำให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าให้ความสำคัญมาตรการในการดำเนินการนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำเป็นครั้งที่ 3 จึงให้บริษัทฯเสนอแผนละเอียด และให้ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งออนไซต์ ออนไลน์
เข้ามาช่วยให้ความเห็นในการทำแผนปโบัติและกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีมาตรการอย่างไร ก่อนที่กรมเจ้าท่าจะตัดสินใจอนุมัติให้บริษัทดำเนินการ ซึ่งมั่นใจว่า โอกาสที่น้ำมันจะรั่วซ้ำมีน้อยเนื่องจากปริมาณน้ำมันค้างท่อมีจำนวนน้อยแล้ว ไม่มีแรงดันภายในท่อแล้ว
สำหรับในอนาคตจะเกิดเหตุน้ำมันรั่วได้อีกหรือไม่คงไม่สามารถบอกได้ แต่จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง จะถอดบทเรียนและพยายามหาแนวทาง ร่วมกับหน่วยงานอื่น กำหนดมาตรการที่เข้มงวดและแผนงาน วิธีการป้องกันและนำเทคโนโลยีเข้ามากำกับมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต
@เร่งพิจารณาข้อกฎหมายยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการท่าเทียบเรือ
นายภูริพัฒน์กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง ได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุดแล้ว รวมถึงแจ้งความเพิ่มที่เกิดเหตุครั้งที่ 2 ซ้ำอีก ในกรณีฝ่าฝืนคำสั่งระงับใช้ท่าเรือ และก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล เพื่อดำเนินคดีต่อบริษัท SPRC และบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดตามมาตรา 119 ทวิ และมาตรา 297 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย
ส่วนการยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการท่าเทียบเรือ ขณะนี้สำนักงานกฎหมายของกรมเจ้าท่ากำลังพิจารณาเงื่อนไข และข้อกำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 เพื่อสรุปและนำเสนอ รมว.คมนาคม ตามขั้นตอนต่อไป