xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสูตรเด็ด "มาม่า" รุ่น 2 สู่ Future Food

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ทีเอฟวางแผนดัน มาม่า สู่โกลบอลมาร์เกต ภายใต้ทายาทรุ่นที่ 2 ขึ้นบริหารเต็มตัว เตรียมวางฐานการผลิตทุกทวีป รุกตลาดโลกมากขึ้น ด้วยสัดส่วนรายได้เป็น 50% เท่ากับรายได้ในไทยภายใน 5 ปีจากนี้ด้วยรายได้รวม 3 หมื่นล้านบาท เจาะตลาดฟิวเจอร์ฟูด แพลนต์เบสตอบสนองตลาด

“การดำเนินธุรกิจทีเอฟต่อจากนี้ภายใต้การนำทัพของกลุ่มผู้บริหารยุคใหม่ พร้อมขับเคลื่อนทีเอฟสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ New Business Model เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่นิยมสินค้าเพื่อสุขภาพและเทรนด์การใช้ชีวิตที่ต้องการความง่ายและสะดวก มุ่งขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย มีการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจที่มากกว่าอาหารกึ่งสำเร็จรูป โดยมีการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทีมวิจัยของทีเอฟและการจับมือกับสถาบันวิชาการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของทีเอฟอินโนเวชันทีม (TFIT) เพื่อนำพาทีเอฟเดินหน้าสู่ Future Food และขยายตลาดในการรองรับผู้บริโภคในกลุ่ม Healthy เพิ่มมากขึ้น”


นี่คือคำกล่าวของ นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีเอฟ ผู้ปลุกปั้น มาม่า จนกลายเป็นผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (อินสแตนท์ นูดเดิล/ Instant Noodle) ในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาม่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากถึง 50 ปี หรือ 5 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่ก่อเกิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2515

นายพิพัฒย้ำว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจใน 5 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 รวมไปถึงการระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ สามารถก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในธุรกิจอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและมีความยั่งยืน

กุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญคือ การมีพันธมิตรที่ดีอย่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงแผนการลงทุนของบริษัทที่มั่นคง ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ถึงวันนี้รายได้รวมล่าสุดของทีเอฟ ซึ่งมีมาม่าเป็นตัวเอกในการสร้างรายได้หลักรวมแล้วมากถึง 14,000 ล้านบาท และมาม่าเองก็เป็นผู้นำตลาดในไทยด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50%


นายเพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการ และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดจำหน่ายมาม่า และที่ปรึกษา บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมประมาณ 3,700 ล้านยูนิตต่อปี เป็นปริมาณที่มากถือเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งปีที่แล้วตลาดรวมเติบโตประมาณ 10% แต่หากนับการบริโภคต่อคนพบว่าคนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 53.2 ยูนิตต่อคนต่อปี ถือเป็นปริมาณที่มากอันดับที่ 5 ของโลก จากค่าเฉลี่ยทั่วโลกแค่ 15 ยูนิตต่อคนต่อปี

ทุกวันนี้มาม่าก็เป็นผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50%

การเป็นผู้นำของมาม่า จึงท้าทายต่อทายาทรุ่นที่สอง

การเปลี่ยนถ่ายสู่รุ่นที่สองอย่างเต็มตัวของลูกชายและลูกสาวของพิพัฒ หลังจากที่มีการทยอยเข้ามารับช่วงบริหารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จึงน่าจับตามองยิ่งนัก ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อ 50 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของตลาดรวม คู่แข่งขัน กลยุทธ์การตลาด สิ่งแวดล้อม ต้นทุน และที่สำคัญคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคและเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลนี้


โดยมีเป้าหมายระยะยาวของแผน 5 ปีจากนี้ (ปี 2565-2569) ที่จะต้องทำให้ทีเอฟมีรายได้รวมทะลุ 30,000 ล้านบาทให้ได้ โดยมีสัดส่วนในประเทศ และต่างประเทศเท่ากันที่ 50% จากขณะนี้ที่มีรายได้รวมเมื่อปีที่แล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศที่ 10,000 ล้านบาท และรายได้จากต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ราคาจำหน่าย มาม่า ที่ต่ำสุด 6 บาทต่อซอง เพราะเป็นสินค้าแมสราคาต่ำ ทำให้กว่าจะผลักดันยอดขายเพิ่มเป็นเท่าตัวเหนื่อยพอดู

ในอดีตที่ผ่านมา 5 ทศวรรษ มาม่าขึ้นราคาไม่กี่ครั้ง จากเริ่มที่ 2 บาท มาถึงปัจจุบัน 6 บาทต่อซอง และล่าสุดก็ยังยืนยันว่าจะยังไม่ขึ้นราคา แม้ว่าราคาวัตถุดิบถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ปรับราคาขึ้นครั้งสุดท้ายก็คือปี 2551


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปรึกษาของทีเอฟ กล่าวว่า ทีเอฟเป็นผู้ผลิตเป็นผู้บุกเบิกอินสแตนต์นูดเดิลในไทย จากนี้ไปจะมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปอีกมาก เราจะก้าวสู่ฟิวเจอร์ฟูด (Future Food) เราต้องเปลี่ยนวอลุ่ม งเบส (Volume Base) มาเป็นแวลูเบส (Value Base) จากการสร้างห่วงโซ่อาหาร ตอบโจทย์โลกอนาคต ภายใต้แนวทางหลัก 2 I คือ นวัตกรรม (Innovation) ที่มาม่าเองก็มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง และอินเตอร์เนชันนัล (International) หรือตลาดต่างประเทศ ที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างสมบูรณ์แบบ ปักหมุดทุกภูมิภาค มองท้้งโลกเป็นตลาดเดียวกันของมาม่าของทีเอฟ

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมถือเป็นประเด็นสำคัญและครอบคลุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมสินค้า นวัตกรรมการตลาด นวัตกรรมการผลิต นวัตกรรมคุณประโยชน์ เป็นต้น


ดร.พจนี พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ ทีเอฟ กล่าวว่า ดีเอ็นเอของมาม่าก็คือ นวัตกรรม เราเกิดมาจากนวัตกรรม ทีเอฟใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 0.5% ของกำไร ซึ่งนอกจากการพัฒนาและวิจัยทำเองแล้ว ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกัน ทั้งในไทยและในต่างประเทศ เช่น ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล จุฬาฯ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ฯลฯ เป็นต้น โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับฟิวเจอร์ฟูด แพลนต์เบส หรือสินค้ากลุ่มไฮแวลู

สินค้าหลายอย่างคนไทยเองอาจจะยังไม่รู้ว่าทีเอฟเป็นผูู้ผลิตและคิดค้นทำเอง ในแบรนด์ของมาม่า ที่มีวางจำหน่ายเฉพาะในต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ขายในตลาดเมืองไทย เช่น ไรซ์พาสตา บะหมี่ผัดสิงคโปร์

“ถ้าเราจะเดินก้าวช้าๆ แบบน่ารัก คงไม่ทันแล้วในยุคนี้” ดร.พจนีกล่าว

พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า เราคงไม่จำกัดเฉพาะอาหารหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจจะขยายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งก็มีการคุยกันกับหลายรายแล้ว


ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ตลาดแพลนต์เบส และฟิวเจอร์ฟูด รวมทั้งอาหารเพื่อสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงและมีแนวโน้มการเติบโตแบบยั่งยืนอย่างมาก มาม่าเองก็มองตลาดนี้เช่นกัน การร่วมมือกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญหลายแห่งก็เป็นแนวทางสำคัญที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ ซึ่งก็จะสอดรับกับแผนการรุกตลาดโลกด้วยเช่นกัน

ทุกวันนี้มาม่ามีรายได้หลักมาจากกลุ่มแมสเป็นหลัก ราคาจำหน่ายต่ำ ทำให้กำไรต่อหน่วยก็ต่ำไปด้วย เช่นเดียวกับในตลาดต่างประเทศ สินค้าที่จำหน่ายก็เป็นกลุ่มแมสมากถึง 80% แบบเดียวกับที่ขายในไทย ส่วนที่เหลือ 20% ก็เป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียมกับไฮแวลู อย่างเช่น มาม่าโอเรียนทอลคิทเช่น หรือมาม่าโอเค, เฝอ, เส้นพาสตาปราศจากกลูเตน, เส้นพาสตาที่ผลิตจากข้าวออร์แกนิกส์ เป็นต้น

ดังนั้น การขยายสู่กลุ่มพรีเมียมกับไฮแวลูจึงน่าจะเป็นหนทางที่ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศได้ดี และขณะเดียวกันก็ตอบสนองต่อมาม่าในแง่รายได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากการรุกสู่นวัตกรรมต่อเนื่องที่เป็นดีเอ็นเอของมาม่าแล้ว ความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตของโรงงานก็สำคัญไม่แพ้กัน


ดร.พจน์ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ ทีเอฟ กล่าวว่า เครื่องจักรของเรามีความพร้อมอย่างมากทั้งระบบมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมาตลอด ระบบการผลิตของเราเรียกว่าเข้ายุค 4.0 ที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกด้วย

ปัจจุบัน ทีเอฟมีโรงงานฐานการผลิตมาม่าในไทยหลายแห่ง คือ ที่ลำพูน มีกำลังผลิตประมาณ 2,500 ตันต่อเดือน, ที่ราชบุรี 1 มีกำลังผลิตประมาณ 445 ตันต่อเดือน, ที่่ราชบุรี 2 มีกำลังผลิตประมาณ 650 ตันต่อเดือน, ที่ชลบุรี มีกำลังผลิตประมาณ 6,900 ตันต่อเดือน, ที่ระยอง มีกำลังผลิตประมาณ 1,900 ตันต่อเดือน

ส่วนในต่างประเทศมีอยู่ 4 แห่ง คือ ที่เมียนมา, กัมพูชา, บังกลาเทศ และฮังการี

เท่านั้นยังไม่พอ ทีเอฟวางแผนที่จะมีฐานการผลิตมาม่ากระจายไปในทุกภูมิภาคหรือทุกทวีปด้วยซ้ำไป


นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ ทีเอฟ กล่าวว่า การที่ทีเอฟต้องการสร้างฐานผลิตมาม่าทุกทวีปก็เพราะเป็นเรื่องของการลงทุนที่เกี่ยวกับต้นทุนและความสดใหม่ของสินค้า ซึ่งเรื่องของการขนส่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ อีกทั้งหากอนาคตมีปัญหาเรื่องการขนส่งเรือไม่เพียงพอ จะเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดได้

เพราะปัจจุบันมาม่าวางขายในมากกว่า 68 ประเทศทั่วโลกแล้ว และยิ่งต้องการขยายตลาดทั่วโลกมากขึ้น การผุดฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

ตลาดใหญ่ของมาม่าอยู่ที่ เอเชีย สัดส่วน 50%, ยุโรป 28%, อเมริกา 18%, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 3% และแอฟริกา 1%


นางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัทและกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยงของทีเอฟ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรสซิเดนท์ อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด กล่าวว่า มาม่ามีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศและตลาดโลกมากขึ้น ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจากนี้ (ปี 2565-2569) จะต้องมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% จากปัจจุบันมีประมาณ 30% จากรายได้รวมของบริษัทฯ โดยปีที่แล้วมีรายได้รวมประมาณ 14,000 ล้านบาท

การขยายตลาดมีทั้งการผลิตจากประเทศไทยและส่งออกไป กับการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดทุกประเทศที่พิจารณาเบื้องต้นก่อน เพราะแต่ละประเทศที่จะไปลงทุนนั้นก็มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องกฎหมาย ข้อจำกัดต่างๆ เรื่องแรงงาน เรื่องภาษี ค่าจ้าง ค่าวัตถุดิบ ทำเลที่เหมาะกับการผลิตและสามารถส่งออกในตลาดใกล้เคียงได้ ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งที่พิจารณาอยู่ เช่น ในแอฟริกาใต้


ส่วนรูปแบบการลงทุนขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสและความลงตัว ทั้งแบบการลงทุนเอง หรือการร่วมทุน หรือการเข้าซื้อโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมาม่ามีฐานการผลิตโรงงานในต่างประเทศอยู่ 4 แห่ง คือ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี ที่เปิดมาได้เกือบ 8 ปีแล้ว

แผนการขยายตลาดนั้น จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มไฮแวลูกับกลุ่มพรีเมียมเป็นพิเศษเพราะมีราคาที่ดีกว่าและตลาดเปิดรับมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพและคุณค่าของอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์บางรายการเราไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย จากเดิมที่สัดส่วนกลุ่มแมสอยู่ที่ 80% กลุ่มพรีเมียมกับกลุ่มไฮแวลูอยู่ที่ 20% รวมไปถึงการขยายตลาดผู้บริโภคที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากคนเอเชียเท่านั้น

นอกจากนั้นจะตั้งสำนักงานและคู่ค้าเพิ่มขึ้นในเฟสที่ 1 ด้วย เช่น ในฮังการี รวมทั้งตั้งดิสทริบิวเตอร์เช่นที่ อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม ส่วนเฟสที่ 2 จะขยายที่อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

“การขยายตลาดต่างประเทศทั่วโลกนั้นมีโอกาสมากกว่า แม้ว่าจะยากแต่ก็เป็นตลาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศมากหลายเท่าตัว เรายังมีโอกาสอีกมาก”

มาม่าอาจจะไม่ใช่เป็นแบรนด์ใหม่ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดโลกเพราะทำตลาดมานานแล้ว

แต่จากนี้ การที่จะรุกตลาดมากขึ้น เพื่อสร้าง มาม่า ให้เป็นโกลบอลแบรนด์และโกลบอลมาร์เกต และเป็นผู้นำตลาดในต่างประเทศหรืออย่างน้อยก็เป็นแบรนด์ที่ติดกลุ่มผู้นำในประเทศที่ทำตลาดอยู่

จึงเป็นเรื่องที่เรื่องใหม่และท้าทายมากกว่า ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่สอง








กำลังโหลดความคิดเห็น