xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมกางไทม์ไลน์ชง ครม. เม.ย. 65 ไฟเขียว ทอท.รับสิทธิ์บริหารสนามบิน "อุดร-กระบี่-บุรีรัมย์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” เร่งสรุปแนวทางและวิธีการให้ทอท.บริหาร 3 สนามบินของ ทย. เคลียร์ปมบริจาคเงินเข้ากองทุนหมุนเวียน, ที่ราชพัสดุ เผยไทม์ไลน์ชง ครม.เห็นชอบเม.ย. 65 ทอท.คุมคลัสเตอร์ขนส่งทางอากาศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ว่า คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมได้ประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสรุปรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางวิธีการในการให้ทอท.บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย.ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ในวันที่ 8 มี.ค. 2565 จากนั้นจะนำประชุมร่วมกับตน เพื่อสรุปและเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ในต้นเดือน เม.ย. 2565 ต่อไป

หลังจาก ครม.เห็นชอบแนวทางการมอบความรับผิดชอบให้ ทอท.เข้าบริหารสนามบินของ ทย. จำนวน 3 แห่งแล้ว ทย.และทอท.จะต้องหารือร่วมกันเพื่อสรุปในส่วนของความร่วมมือ ซึ่งตามไทม์ไลน์คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2565 หลังจากนั้นจะต้องเสนอ ครม.รับทราบถึงความร่วมมือระหว่าง ทย.กับทอท.ในการบริหารจัดการท่าอากาศยานร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือน ก.ค. 2565

ทั้งนี้ การให้สิทธิการบริหารสนามบินของ ทย.และ ทอท. 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาธุรกิจการบินได้อย่างคล่องตัว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่  4 ส.ค. 2561 สมัยรัฐบาล คสช. ให้โอนท่าอากาศยานของ ทย. 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ไปให้ ทอท.  โดยให้พิจารณากฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันมีการพิจารณาเปลี่ยนเป็น อุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ดังนั้น ในการนำเสนอ ครม.จะต้องมีรายละเอียดเหตุผลในการเปลี่ยนท่าอากาศยานจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ซึ่ง ทย.และ ทอท.ได้ร่วมกันทบทวนแนวทางการให้ ทอท.เป็นรับผิดชอบ ดูแลบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งแทน ทย. จากเดิม 4 แห่งตามข้อสั่งการนายกฯ เพื่อความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ตามแนวคิด การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (Airport System) และการดำเนินธุรกิจการขนส่งทางอากาศในรูปแบบคลัสเตอร์

โดย ทอท.เปลี่ยนจากท่าอากาศยานอุดรธานี และสกลนคร เป็นอุดรธานี และบุรีรัมย์ เพื่อกำหนดเป็นคลัสเตอร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเปลี่ยนท่าอากาศยานชุมพร เป็นกระบี่ เพื่อเป็นคลัสเตอร์ ขนส่งทางอากาศยานภาคใต้ เพราะกระบี่ตั้งอยู่กึ่งกลางฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย เป็นจังหวัดที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ตอบสนองด้านการท่องเที่ยวได้ และรองรับความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ตได้

ส่วนท่าอากาศยานตากตัดออกเนื่องจากเส้นทางเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตากไม่สนับสนุน ทำให้ท่าอากาศยานตากไม่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น logistic Airport

สำหรับประเด็น ทอท.นำเงินรายได้จากการเข้าบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งบริจาค เข้ากองทุนหมุนเวียน ทย. เพื่อชดเชยรายได้ให้กองทุนฯ นั้น จากการหารือกับกรมบัญชีกลางระบุว่า ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 60/44 วรรคสอง กำหนดให้เงินทุนหมุนเวียนของ ทย.ประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือุทิศให้ ดังนั้น เงินทุนหมุนเวียน ทย.จึงสามารถรับเงินทอท.บริจาคได้

แต่การชดเชยรายได้ของกองทุนหมุนเวียน ทย.จากกรณีมอบให้ทอท.บริหารสนามบิน ทย.แทนเป็นคนละกรณีกับการบริจาคเงินให้กองทุนหมุนเวียน ทย. ซึ่งจากการหารือล่าสุดได้สรุปที่จะมีแนวทางที่กองทัพเรือได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งผู้มอบมีวัตถุประสงค์ให้ส่วนราชการใช้จ่ายในกิจการโดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามนัยมาตรา 34 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561






กำลังโหลดความคิดเห็น