เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ Omicron อย่างใกล้ชิด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2564 ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ Omicron อย่างใกล้ชิด" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 16.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 4.8 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 46.2 จากระดับ 44.9 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 25.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 8.8 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -29.1 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.2
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.3 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.7 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม 2564 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 24,930.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 23.0 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แห้ง กระป๋องและแปรรูป และยางพารา ที่ขยายตัวร้อยละ 48.1 24.9 23.7 และ 22.7 ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4) สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 45.0 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 54.4 36.5 และ 35.0 ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.8 จากระดับ 85.4 ในเดือนก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 230,497 คน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐฯ และสวีเดน โดยได้รับปัจจัยสนับนุนจากมาตรการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศให้เข้ามาไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว (Test and Go) เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 15.95 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 31.8 ขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -4.2 ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด มันสำปะหลัง สุกร และไก่ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ยังคงขยายตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.17 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.29 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.6 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ