xs
xsm
sm
md
lg

โอมิครอนฉุดผู้โดยสาร! กบร.เคาะขยายมาตรการช่วยแอร์ไลน์ อีก 3 เดือน ทอท.ลดค่าแลนดิ้ง-ปาร์กกิ้ง 50% ต่อถึง 31 มี.ค. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กบร.เคาะขยายเวลามาตรการช่วยสายการบินต่อไปอีก 3 เดือนบรรเทาผลกระทบหลัง "โอมิครอน" ระบาดหนัก ฉุดผู้โดยสารชะลอตัว ทอท.หั่นค่าแลนดิ้ง-ปาร์กกิ้ง 50% ถึง 31 มี.ค. 65 “ศักดิ์สยาม” สั่ง กพท.เร่งหาทางเพิ่มประสิทธิภาพบริการลดต้นทุนน้ำมัน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 13 ม.ค. 2565 ว่า ที่ประชุม กบร.มีมติเห็นชอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินต่อเนื่องไปอีก 1 ไตรมาส นับจากที่ได้ดำเนินการมาจนถึงสิ้นปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น หลังมีสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักเป็นระลอกที่ 5 จนคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ประมาณ 6 เท่า กลับไปชะลอตัวลงอีก

ทั้งนี้ ได้มีการเร่งระดมมาตรการด้านปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายสายการบินอีกทาง พร้อมทั้งนำผลการศึกษาแนวทางของประเทศต่างๆ มาปรับปรุงมาตรการให้สามารถช่วยพยุงการดำเนินงานของสายการบินได้เต็มที่ทุกรูปแบบ ประกอบด้วย

1. มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน ให้ ทอท.ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินที่ใช้บริการสนามบินของ ทอท. โดยขยายระยะเวลาปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลงอัตรา 50% ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ สำหรับสายการบินที่ยังทำการบินอยู่ และยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

2. มาตรการทางการเงิน ให้ กพท.ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Terms) ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ จาก 15 วันเป็น 90 วัน จนถึงรอบชำระวันที่ 31 มีนาคม 2565 ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565)

ส่วน ทอท.เลื่อนชำระค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charge) สำหรับงวดชำระเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 ออกไปงวดละ 9 เดือน และให้ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 12 งวดชำระ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นอกจากมาตรการเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและมาตรการที่เกี่ยวข้องทางการเงินโดยตรงแล้ว ยังมอบนโยบายให้ กพท.ประสานหน่วยงานผู้ให้บริการทั้งภาคพื้นและภาคอากาศ เช่น ทอท. ทย. และผู้ดำเนินการสนามบินทุกราย รวมทั้งบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อให้แต่ละเที่ยวบินสามารถลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สายการบินประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนหลักได้อีกทางหนึ่ง

และให้ กพท.ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และช่วยสายการบินให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ให้ กพท.มีมาตรการดูแลบุคลากรด่านหน้าทางการบินเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังสั่งการให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการมาตรการ จัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพราะจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ที่ผ่านมา สถิติจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเฉลี่ย 6 เท่า โดยจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มการติดเชื้อภายในประเทศลดลง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวส่งผลให้การเดินทางภายในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล




กำลังโหลดความคิดเห็น