“กบร.” มีมติขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ลดค่าใช้จ่ายสายการบิน จนถึงสิ้นไตรมาส 1/2565
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 1/2565 นำโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน ร่วมกับกรรมการในที่ประชุม มีมติขยายระยะเวลามาตรการลดค่าใช้จ่ายและมาตรการทางการเงิน ในไตรมาสที่ 1/2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบกับสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
กบร.ได้มีมติเห็นชอบให้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน ที่ได้ดำเนินการมาจนถึงสิ้นปี 2564 ต่อเนื่องไปอีก 1 ไตรมาส เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหลัง COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักจนคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วงปลายปีกลับชะลอตัวลงอีกเป็นระลอกที่ 5 เร่งระดมมาตรการด้านปฏิบัติการให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำมันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายสายการบินอีกทาง พร้อมทั้งนำผลการศึกษาแนวทางของประเทศต่าง ๆ มาปรับปรุงมาตรการให้สามารถช่วยพยุงการดำเนินงานของสายการบินได้เต็มที่ทุกรูปแบบ ประกอบด้วย
1. มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินที่ใช้บริการสนามบินของ ทอท. โดยขยายระยะเวลาปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลงอัตราร้อยละ 50 ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ สำหรับสายการบินที่ยังทำการบินอยู่ และยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
2. มาตรการทางการเงิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Terms)ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ จาก 15 วันเป็น 90 วัน จนถึงรอบชำระวันที่ 31 มีนาคม 2565 ด้านกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่า ไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565) ส่วน ทอท. เลื่อนชำระค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charge) สำหรับงวดชำระเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 ออกไปงวดละ 9 เดือน และให้ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 12 งวดชำระ
นอกจากมาตรการเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและมาตรการที่เกี่ยวข้องทางการเงินโดยตรงแล้ว ประธาน กบร. ยังมอบนโยบายให้ CAAT ประสานหน่วยงานผู้ให้บริการทั้งภาคพื้นและภาคอากาศ เช่น ทอท. ทย. และผู้ดำเนินการสนามบินทุกราย รวมทั้งบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อให้แต่ละเที่ยวบินสามารถลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สายการบินประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนหลักได้อีกทางหนึ่ง และให้ CAAT ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์และช่วยสายการบินให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ CAAT มีมาตรการดูแลบุคลากรด่านหน้าทางการบินเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้มากที่สุด
กบร. ยังสั่งการให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการมาตรการ จัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้เพราะจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ที่ผ่านมา สถิติจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเฉลี่ย 6 เท่า โดยจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มการติดเชื้อภายในประเทศลดลง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวส่งผลให้การเดินทางภายในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล