xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผย MPI ปี 64 โต 5.93% มั่นใจปี 65 โตต่อ-คาดราคาสินค้าแพงระยะสั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2564 ขยายตัว 5.93% แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังโตต่อเนื่อง มองราคาสินค้าแพงเป็นปัญหาระยะสั้น จะทยอยคลี่คลายช่วงครึ่งปีหลัง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 102.59 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.83% และขยายตัวสูงขึ้นกว่าเดือนธันวาคม ปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 98.81 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ MPI ทั้งปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.93% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.73% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 จากทิศทางการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโตสูง

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ยังเป็นแรงหนุนต่อการส่งออกของไทย แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงการระบาดของเดลตา และมีแนวโน้มจะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าครั้งก่อน ส่วนไทยเองภาครัฐได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แม้ว่าราคาสินค้าบางกลุ่มจะสูงขึ้นส่งผลกระทบทั้งผู้ผลิตและบริโภค แต่คาดว่าปัญหาราคาสินค้าน่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้นและจะทยอยคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565" นายทองชัยกล่าว


สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ที่การผลิตอยู่ระดับ 1,685,705 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.15% และคาดการณ์ปี 2565 จะมีการผลิตทั้งสิ้น 1,800,000 คันตามตลาดส่งออกและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 7.54 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตาชนิดที่ 2 น้ำมันเตาชนิดที่ 5 และน้ำมันเบนซิน 91 เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนได้รับวัคซีนในอัตราสูง ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.52% เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยที่เร็วกว่าเดิม และมีจำนวนโรงงานที่เริ่มเปิดหีบมากกว่าปีก่อน รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้มีมากกว่าปีก่อน

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.24% เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.08% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางรัดของ และน้ำยางข้น เป็นหลัก โดยเป็นไปตามการขยายตัวของตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวและมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น รวมถึงขยายตัวตามความต้องการใช้ต่อเนื่องในอุตสาหกรรมยานยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น