ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 64 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 9 เดือนหลัง ศบค.ผ่อนคลายล็อกดาวน์ เริ่มเปิดประเทศ แม้จะมีการยกเลิก Test & Go ในภายหลัง ตรึงดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท มีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาต่อเนื่อง จับตาโอมิครอนระบาดฉุดความเชื่อมั่น ม.ค.ลงแน่ แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนต่อไป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ธ.ค. 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 44.9 เป็น 46.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นระดับ 28.5 มาอยู่ที่ 30.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 52.7 มาอยู่ที่ระดับ 53.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 40.1 42.7 และ 55.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2564 ที่อยู่ในระดับ 38.8 41.4 และ 54.5
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้นมาจาก ศบค.ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเป็นการรองรับมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) บินเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แม้ว่า ศบค.มีคำสั่งยกเลิก Test & Go และให้ใช้ระบบกักตัว พร้อมปิดรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าไทยตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2564-4 ม.ค. 2565 ก็ตาม ประกอบกับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และเริ่มแพร่ระบาดในไทยหลังจากเทศกาลปีใหม่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ โดยต้องติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่าความเชื่อมั่นในเดือน ม.ค. 2565 จะยังคงลดลง และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในเดือนต่อไป โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีโต 4% แบ่งเป็นครึ่งปีแรก 2.5-3% และครึ่งปีหลัง 5-.55%