xs
xsm
sm
md
lg

ปี 65 ราคาน้ำมันวิกฤตสุดในรอบ 8 ปี รัฐล้วงกระเป๋าคนไทยอุ้มดีเซล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2565 เริ่มต้นยังไม่พ้นเดือน ม.ค.ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยก็ขยับกันถี่ยิบ...โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซิน ขณะที่ดีเซลรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ผู้ที่ให้ความร่วมมือหลักๆ มีแค่ PTT Station และ บางจาก เท่านั้นโดยยังตรึงไว้ที่ 29.94 บาท/ลิตร ส่วนค่ายอื่นๆ ไม่ต้องพูด! ไปไกลทะลุ 30 บาท/ลิตรมานานแล้ว... ซึ่งผลกระทบทั้งหมดปัจจัยหลักก็มาจากน้ำมันดิบตลาดโลกที่พุ่งพรวดๆ จากความต้องการใช้ที่สูงขึ้น ขณะที่สต๊อกโลกร่อยหรอในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ โลกยังมีปัญหาขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์หลายพื้นที่ เช่น การจลาจลในคาซัคสถาน, การปิดล้อมแหล่งน้ำมันในลิเบีย, ปัญหาท่อขนส่งน้ำมันระหว่างอิรัก-ตุรกีเกิดระเบิด และปัญหาตึงเครียดชายแดนยูเครน-รัสเซีย ฯลฯ เหล่านี้ล้วนกดดันต่อระดับราคาน้ำมันตลาดโลกมากขึ้น ...ส่งผลให้ Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบเบรนต์จะแตะ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาสแรกของปีนี้ และอาจทะยานไปถึง 100 เหรียญ/บาร์เรลในไตรมาสที่ 3 ได้ .... อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่าไม่น่าจะไปได้ในระดับ 100 เหรียญหากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ลุกลามใหญ่โต และเมื่อโลกตะวันตกผ่านพ้นฤดูหนาวในช่วงไตรมาส 1 ไปแล้วราคาน้ำมันก็จะอ่อนตัวลง

ทั้งนี้ เมื่อหันมามองกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกหลักในการดูแลเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันจากการต้องตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) 318 บาท/ถัง (15 กิโลกรัม) ต่อเนื่อง รวมกับตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรทำให้ฐานะกองทุนฯ ได้ติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี และล่าสุดติดลบกว่า 1.23 หมื่นล้านบาท ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) 16 พ.ย. 64 ได้เห็นชอบการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เพื่อเสริมสภาพคล่องไม่เกิน 30,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการในล็อตแรก 20,000 ล้านบาท ซึ่งคงต้องติดตามวันที่ 31 ม.ค.นี้ว่าจะมีสถาบันการเงินใดมาเสนอแผนเงินกู้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม โลกและไทยเองเผชิญวิกฤตน้ำมันที่หนักหนามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะล่าสุดในปี 2550 น้ำมันดิบช่วงนั้นทำสถิติสูงสุดรอบ 100 ปี โดยวันที่ 22 พ.ย. 2550 น้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เบนซิน 95 อยู่ที่ 102.92 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซลอยู่ที่ 110.79 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ปี 2565 ล่าสุดวันที่ 27 ม.ค. สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์พุ่งขึ้นทะลุ 90 เหรียญ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี .... นับเป็นสถานการณ์ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องติดตามใกล้ชิดและเตรียมพร้อมสำหรับแผนรองรับ...!!!

รัฐขูดรีดคนใช้เบนซิน อุ้มดีเซล-จี้ลดภาษีฯ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นมองว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับอดีต แต่ราคาขายปลีกที่วิกฤตเพราะรัฐบาลไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่เก็บสูงถึง 5.99 บาท/ลิตร ซึ่งนี่ยังไม่รวมภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก (ดูตาราง) แต่รัฐบาลใช้วิธีล้วงเงินในกระเป๋าคนไทยโดยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ มาตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร พอเงินกองทุนฯ หมดก็ใช้วิธีไปกู้ยืมที่มีภาระดอกเบี้ย ซึ่งท้ายสุดประชาชนก็ต้องเป็นผู้จ่าย ซ้ำร้ายล่าสุดรัฐยังเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเข้ากองทุนฯ เพิ่มอีกเฉลี่ย 40-60 สตางค์/ลิตร เพื่อไปชดเชยราคาดีเซลอีกด้วย

“คนใช้เบนซินไม่มีการรวมตัวกันคัดค้าน ไม่มีปากเสียงเหมือนดีเซล และรัฐก็มองว่าเป็นคนใช้รถเก๋งส่วนบุคคล เลยเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ง่าย เรียกว่ารีดเงินจากประชาชนทุกทางซึ่งเป็นการซ้ำเติมที่เวลานี้ประชาชนก็ยากลำบากอยู่แล้วโดยไม่ยอมลดภาษีฯ ซึ่งหากลดลงก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเป็นภาระประชาชนในอนาคตที่ต้องบวกดอกเบี้ย สรุปแล้วรัฐเลือกรักษาเสถียรภาพของตัวเองมากกว่าประชาชน” น.ส.รสนากล่าว

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาดีเซลลิตรละ 3.09 บาท/ลิตร ขณะที่รัฐไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงที่จะช่วยประชาชนภาพรวม แต่กลับไปลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินจาก 4.726 บาท/ลิตร ลงเหลือ 0.20 บาท/ลิตร ขณะเดียวกัน การชดเชย LPG จากกองทุนน้ำมันฯ 14.86 บาท/กก. ซึ่งปัญหานี้อาจจะไม่หนักหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยกเลิกการคงราคา LPG ไว้ที่ 333 เหรียญต่อตันด้วยการหันไปใช้กลไกเสรีอิงราคา LPG นำเข้าจากซาอุดีอาระเบียแทนทำให้เนื้อก๊าซฯ ขยับจาก 10 บาท/กก.มาสู่ระดับ 26.85 บาท/กก. กองทุนน้ำมันฯ จึงต้องชดเชยเพิ่มขึ้นโดยอ้างดูแลประชาชน แต่ข้อเท็จจริงก๊าซฯ ผลิตในอ่าวไทยได้เป็นหลัก นี่เป็นการผ่องถ่ายทรัพยากรในประเทศให้กลุ่มทุนหรือไม่


มองน้ำมันซ้ำเติมวิกฤต หนุนรัฐรับมือระยะสั้น-ยาว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่อยู่ในระดับ 100-110 เหรียญ/บาร์เรลเช่นอดีตที่เคยเกิดขึ้นและราคาขายปลีกน้ำมันของไทยดีเซลที่รัฐคุมไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์ตอนนั้นกับปัจจุบันต่างกันมากเนื่องจากอดีตราคาน้ำมันที่สูงมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตโดยเฉพาะจากจีน การเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ฯลฯ แต่ปัจจุบันทั่วโลกและไทยเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบากยิ่งขึ้น

“เราเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว น้ำมันที่ขยับสูงขึ้นก็จะเป็นปัจจัยกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะยิ่งลำบากขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับค่าขนส่ง และวัตถุดิบต่างๆ รวมถึงราคาพลังงานที่สูงยังจะสะท้อนไปยังค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ยิ่งกดดันดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อสะท้อนจากเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 64 ไทยอยู่ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก แต่เมื่อหักน้ำมัน และอาหารที่มีราคาผันผวนสูงออกจะเหลือเพียง 0.9% เท่านั้น” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐดูแลระดับราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นแต่หากพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตลงมาบ้างเป็นการชั่วคราวก็จะบรรเทาผลกระทบประชาชนได้มากขึ้น ....อย่างไรก็ตาม มาตรการระยะกลางและยาวมีความสำคัญเช่นกัน โดยภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบที่ไทยต้องนำเข้าเฉลี่ยถึง 90% แล้วยังเป็นการตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนตามที่ไทยได้ให้คำมั่นในเวทีประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

"ปัญหาพลังงานจะต้องแก้หลายๆ เรื่องมองเป็นระยะยาวที่ต้องลดการพึ่งพิงน้ำมันดิบ ต้องส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์รูฟท็อปในภาคโรงงานและครัวเรือน ประชาชนและทุกภาคส่วนต้องรู้จักการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างกรณีของปัญหาการจราจร การที่รถติดมากเท่าไหร่ก็สิ้นเปลืองน้ำมันและยังก่อมลพิษ และเมื่อดูสาเหตุรถติดก็มาจากการซ่อมถนน เราต้องแก้แบบเป็นระบบมองภาพรวมให้มากขึ้น" นายเกรียงไกรกล่าวย้ำ

เกษตรกรปาล์มลั่นช่วยแค่สิ้น มี.ค.นี้

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่รัฐได้ตรึงดีเซลไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาทพร้อมกับการลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B 100) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ 7% (B 7) 10% (B 10) และ 20% (B 20) ให้มีสัดส่วนผสมเดียว คือ 7% (B 7) เป็นเวลา 4 เดือน (ธ.ค. 64-มี.ค. 65) ดังนั้นหากจะขยายระยะเวลาหรือมีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมภาครัฐจะต้องหารือกับเกษตรกรเพื่อตกลงกับชาวสวนปาล์มก่อนเท่านั้น

“นโยบายรัฐได้กำหนดให้น้ำมันพื้นฐานเป็น B10 แต่เมื่อดีเซลแพงได้หันมาลดสัดส่วนผสม B100 ทั้งหมดเหลือเกรดเดียวโดยไม่ได้หารือเกษตรกรเลย เราก็เข้าใจว่าประชาชนลำบาก และถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงเนื้อดีเซลเองได้ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลกเราต้องยอมรับ แต่จะดีกว่าไหมหากรัฐทำให้รายได้ของคนไทยหรือภาคเกษตรกรดีขึ้นราคาน้ำมันหรือสินค้าที่แพงก็คงไม่ใช่ปัญหา” นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้ ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยอยู่กิโลกรัม (กก.) ละ 11 บาทซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 10 ปี และล่าสุดบางพื้นที่ขยับไปสู่ 12 บาท/กก.ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 55-56 บาท ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตออกล่าช้ากว่าปกติ ประกอบกับผลผลิตรวมยังคงไม่ได้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับภัยแล้งต่อเนื่อง ประกอบการรัฐกังวลว่าผลผลิตปาล์มที่ทยอยออกมาช่วง ก.พ.-มี.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงราคาตกต่ำจึงทำให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ

นายมนัสกล่าวว่า แม้ว่าปีนี้ราคาปาล์มจะสูง แต่ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยปรับขึ้นไปมากกว่าเท่าตัว และที่ผ่านมาเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งจะเห็นว่าทุกอย่างมีการปรับขึ้นหมด ขณะที่น้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตรในท้องตลาดเป็นสินค้าควบคุมแต่มีการอิงปาล์มทะลาย และ CPO ที่สูง รัฐจำเป็นจะต้องดูแลระดับราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตให้เหมาะสมและสอดคล้องข้อเท็จจริงโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภคและเกษตรกร โดยเฉพาะจะต้องดูสต๊อก CPO เป็นสำคัญ โดยล่าสุดรัฐจะมีการประกาศสต๊อก 5 ก.พ.นี้ ....

...ปัญหาราคาน้ำมันแพงปี 2565 จะกลายเป็นวิกฤตของประชาชนอีกครั้งหรือไม่...เราคงหนีไม่พ้นที่ต้องรอลุ้นราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญเพราะเราควบคุมไม่ได้ ... แต่กระนั้น กลไกการบริหารจัดการภาครัฐที่ทันท่วงทีและยึดผลประโยชน์ของประชาชนคนทั้งประเทศเป็นหลัก โอกาสหนักก็จะผ่อนคลายให้เป็นเบาได้..


กำลังโหลดความคิดเห็น