xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังมั่นใจ ศก.ปี 65 โต 3.5-4.5% ยันดูแลเงินเฟ้ออยู่ในกรอบได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คลังมั่นใจ ศก.ปี 65 โต 3.5-4.5% จาก 4 แรงขับเคลื่อน เชื่อท่องเที่ยวฟื้นหนุน GDP ปีนี้โตต่อเนื่อง ช่วยส่งออก-ลงทุนขับเคลื่อน ศก. พร้อมดูแลเงินเฟ้ออยู่ในกรอบได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "แรงขับเคลื่อนประเทศไทยในศักราชใหม่ 2022" ในงานสัมมนา ศักราชใหม่....ความหวัง (หรือแค่ฝัน) ประเทศไทย 2022 โดยระบุว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 65 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4.5% เพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 1% โดยสิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ ภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 15-16% ซึ่งจะส่งผลดีไปยังการลงทุนภาคเอกชน และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีกับธุรกิจโรงแรมและที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังแรงงานในภาคดังกล่าวให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท จากงบลงทุนปีงบประมาณ 65 วงเงิน 6 แสนล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากการให้สัมปทานในโครงการอีอีซี เช่น โครงการก่อสร้างสนามบิน โครงการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น วงเงินราว 1 ล้านล้านบาท จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

สำหรับในปี 65 มีความท้าทาย ได้แก่ 1.การคงอยู่ของโควิด-19 โดยเฉพาะบทบาทของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะระบาดนานแค่ไหน แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน แต่หากรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยจำกัดพื้นที่การระบาดได้ เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และคลี่คลายไปได้ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง 2.การขาดแคลนแรงงาน ที่คาดว่าอาจจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยว และ 3.ปัญหาอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น จากราคาอาหารและราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

"จีดีพีไทยปีที่แล้วที่ประเมินว่าจะโต 1% อาจจะต่ำกว่าที่คาด เพราะโควิด-19 ไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังวนเวียนกลับมารอบ 3-4-5 ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งควบคุมปัญหาดังกล่าวอยู่ ส่วนสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นเชื่อว่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยในปีนี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1-3% เป็นเรื่องที่คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องร่วมมือกันดูไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเกิน 3% บางช่วงอาจจะอยู่เกือบ 3% หรือเกินไปบ้าง ยังไม่สามารถทราบแน่ชัด ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลราคาอาหาร แต่ยืนยันจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนด ส่วนราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันอยู่ โดยเฉพาะดีเซลซึ่งมีผลต่อภาคขนส่ง ตามนโยบายคือ ควบคุมราคาไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเข้ามาตรึงราคาดีเซลต่อไป" นายอาคม กล่าว

ส่วนการรักษาระดับการบริโภคภาคประชาชนนั้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการคนละครึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินมาแล้ว 3 ระยะ และกำลังจะเริ่มระยะที่ 4 โดยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มเร็วขึ้น จากเดิมกำหนดวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.65 เป็นวันที่ 14 ก.พ.นี้จะเปิดให้มีการลงทะเบียน และวันที่ 21 ก.พ.65 เริ่มใช้จ่าย เพื่อรักษาระดับการบริโภคภาคประชาชน

รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (63-64) ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ทำให้หลายประเทศมีการใช้นโยบายการคลังในการพยุงเศรษฐกิจมากถึง 14% ของจีดีพี และมาตรการกึ่งการคลัง 4% ของจีดีพี โดยในส่วนของไทยเอง มาตรการด้านการคลังที่รัฐบาลได้ดำเนินการ คือ การเน้นการหาทรัพยากรเพิ่ม โดยการออก พ.ร.ก.กู้เงินสำคัญ 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยชดเชยรายได้ให้ประชาชนที่หายไปในช่วงที่ขาดรายได้ ธุรกิจหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ และการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งดำเนินการเหมือนกันเกือบทุกประเทศ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นโดยดำเนินการผ่านมาตรการสำคัญๆ เช่น "เราไม่ทิ้งกัน" เป็นต้น และมาตรการด้านการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการรักษาเสถียรภาพตลาดทุน รวมถึงมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงิน ทั้งการพักชำระหนี้ ยืดเวลาการชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่าหนี้จะเกินกรอบเพดานการก่อหนี้ที่ 60% ของจีดีพี ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังในกรณีหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของจีดีพี เป็นการเตรียมการไว้ในกรณีที่มีความจำเป็นในอนาคตเท่านั้น

"ไม่ได้หมายความว่า เมื่อขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะแล้ว รัฐบาลจะต้องกู้เงินให้ครบ 70% ยืนยันว่าภาคการคลังของไทยยังมีความแข็งแกร่ง เข้มแข็ง กรณีหากเกิดวิกฤต ภาครัฐมีความพร้อมในการเข้ามาให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และพยุงเศรษฐกิจได้" นายอาคมกล่าว

ขณะเดียวกัน ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 12% ของจีดีพีนั้น ได้มีการเร่งออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เพื่อรักษาไม่ให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งมีมาตรการเพื่อควบคุม เช่น มาตรการ Test&Go และมาตรการ Thailand Pass แต่ก็ต้องระงับไว้ชั่วคราวหลังจากมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ล่าสุด ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้นำเรื่อง Test&Go กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

"รัฐบาลต้องคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้การเปิดประเทศให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปได้ควบคู่กับการป้องกันการระบาด ซึ่งหลังจากดำเนินการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวปรับดีขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การท่องเที่ยวของต่างชาติเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็สำคัญ ไม่ได้มีการปิดกั้น และมีมาตรการเสริมผ่านเราเที่ยวด้วยกัน ควบคู่กับมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยให้การบริโภคในประเทศกลับมา 100% แต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง" รมว.คลัง กล่าว

พร้อมมองว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะต่อไป คือ การส่งเสริมเรื่องดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น ผ่านการสนับสนุนสตาร์ทอัป ดิจิทัล และธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพูดคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในการเข้ามาลงทุนให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาต้า เซ็นเตอร์ของภูมิภาค รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ในปีนี้จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการด้านภาษีออกมา รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทยในระยะต่อไป

"ที่ถามกันว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งความหวัง หรือความฝันนั้น จริงๆ แล้วอยากให้เป็นเรื่องของความหวัง เพื่อที่จะได้มีแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ในระดับ 3.5-4.5% นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความตั้งใจในการดูแลเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป" รมว.คลัง ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น