โฆษกรัฐบาล เผย “นายกฯ” ประชุมด่วนพลังงาน-พาณิชย์ เตรียมพร้อมมาตรการลดผลกระทบ ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท ก๊าซหุงต้มที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งครัวเรือนและร้านอาหาร
วันนี้ (20 ม.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 2/2565 นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมเพื่อบริหารสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งปัญหาด้านราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบดีกรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนรองรับและบริหารจัดการแบบบูรณาการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ยังคงติดตามสถานการณ์ด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งยังคงนโยบายเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ได้แก่ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทโดยใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจและภาคขนส่งได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และหากราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ได้เตรียมความพร้อมในการเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยในเบื้องต้นจะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท นอกจากนี้ ในส่วนของราคาก๊าซหุงต้ม ยังคงตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่ง) เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งครัวเรือนและร้านอาหาร ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ติดตามในเรื่องของค่าไฟฟ้า โดยได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการในส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อให้สามารถลดภาระค่า Ft ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งได้มีพิจารณาในเรื่องของการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะด้านก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัมปทานในแหล่งเอราวัณ ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าจะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเพิ่มการผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการนำเข้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
และในส่วนของน้ำมันปาล์ม ได้มีการสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์บริหารเรื่องน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคให้มีราคาที่เหมาะสม เนื่องจากน้ำมันปาล์มเป็นต้นทุนในการประกอบอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนโดยตรง รวมทั้งยังได้สั่งการให้บริหารจัดการในส่วนของน้ำมันปาล์มที่นำมาผลิตไบโอดีเซลให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งเกษตรกรและภาคขนส่ง นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เตรียมความพร้อมในการจัดหาพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน รวมทั้ง ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการจำหน่ายสินค้าราคาอุปโภคบริโภคในราคาประหยัด
“นายกรัฐมนตรี มีความความห่วงใยในสถานการณ์ของแพง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ เตรียมความพร้อมในการกำหนดมาตรการรับมือด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เน้นย้ำให้บริหารจัดการด้านความมั่นคงและราคาเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว