โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เป็นอีกโครงการที่กรมทางหลวง (ทล.) จะดำเนินการโดยให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP ) ซึ่งวันที่ 19 ม.ค. 2565 คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ได้เห็นชอบโครงการ Rest Area บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา)
มูลค่า 2,929 ล้านบาท และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) มูลค่า 1,317 ล้านบาท ถือเป็นการสั่นกระดิ่งเริ่มต้นในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนที่พักริมทางอย่างเป็นทาง ซึ่งในปีนี้กรมทางหลวงตั้งเป้าหมายว่าจะประมูลทั้งสิ้น 5 โครงการ (สัญญา) โดย Rest Area มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี มีความพร้อมจ่อคิวเตรียมเสนอขออนุมัติแล้ว
@จุดพักรถ แลนด์มาร์กใหม่สองข้างทางมอเตอร์เวย์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า หลังคณะกรรมการ PPP เห็นชอบ ทล.จะแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เพื่อจัดเงื่อนไขร่างข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) และเนื่องจากโครงการมีสเกการลงทุนไม่สูงมาก ดังนั้น ขั้นตอนดำเนินการจะไม่ยุ่งยาก โดยตามแผนคาดว่าในเดือน มี.ค. 2565 ร่าง RFP แล้วเสร็จ และคาดว่าใน มิ.ย. 2565 จะสามารถออกประกาศ RFP ประกวดราคาคัดเลือกเอกชน และได้ตัวผู้ร่วมลงทุนประมาณปลายปี 2565 สำหรับ 2 โครงการนี้ มีเป้าหมายเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566
สำหรับผลการศึกษา เลือกรายที่ให้ผลตอบแทนรัฐและมีเทคนิคในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพควบคู่กัน ซึ่งโครงการเป็นรูปแบบ Design & Build คือผู้รับจ้างเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างควบคู่กัน โดย ทล.มีแนวคิดรูปแบบการพัฒนาในเบื้องต้น เช่น มีที่จอดรถไหน รูปแบบ และบางจุดจะเป็นที่พักริมทางรูปแบบที่โครงสร้างคร่อมบนช่องจราจรของมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์และรองรับผู้ใช้ริการทั้งสองฝั่งได้
นอกจากนี้ รูปแบบดังกล่าวจะทำให้มีพื้นที่สำหรับจอดรถมากขึ้น ในขณะที่ร้านค้าจะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะจะมีทางขึ้นลงเชื่อมทั้งสองฝั่งของมอเตอร์เวย์ ผู้ใช้ทางจากทั้งสองฝั่งจะสามารถเดินขึ้นไปบนพื้นที่ได้สะดวก
@ชง Rest Area สาย "บางปะอิน-โคราช" และ "บางใหญ่-กาญจนบุรี" ประมูลในปีนี้
นอกจากนี้ จะผลักดันโครงการที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้เสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2565 จากนั้นจะเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และบอร์ด PPP ตามขั้นตอน
โดยสาย M6 จะแบ่ง Rest Area ออกเป็น 2 สัญญา ส่วน M81 มี 1 สัญญา
“คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 จะเปิดประมูลได้ และหากไม่มีข้อติดขัดได้ตัวเอกชนผู้ร่วมทุนช่วงปลายปี และดำเนินการก่อสร้าง และจะพยายามให้เปิดบริการพร้อมกับการเปิดใช้สายทางมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สาย และจะเป็นการให้บริการระบบมอเตอร์เวย์เต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศ ที่สามารถเปิดให้บริการเส้นทางพร้อมกับที่พักริมทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวแก่ผู้ใช้ทางที่สมบูรณ์และครบครัน Full Function”
@เปิดไฮไลต์ Rest Area "ศรีราชา/บางละมุง" อาคารคร่อมบนมอเตอร์เวย์
ในการศึกษาออกแบบการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉางทั้ง 2 โครงการนั้น ทล.ได้ปรับรูปแบบให้มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนอยู่บนอาคารยกระดับที่คร่อมอยู่เหนือช่องจราจรมอเตอร์เวย์เพื่อรองรับการใช้บริการของผู้ใช้ทางจากทั้งสองฝั่ง โดยการนำร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มารวมกันไว้ ณ จุดเดียว ทำให้สามารถประหยัดพื้นที่ก่อสร้างบนพื้นราบ และสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้รองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น และเป็นที่พักริมทางมีศักยภาพในการรองรับการเติบโตของปริมาณจราจรในระยะยาวได้มากยิ่งขึ้น
โดยกำหนดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารโครงการทั้งหมดในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและปรับระดับที่ดินของโครงการ และเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการ ระยะเวลาของโครงการ 32 ปี (รวมระยะเวลาออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการ) โดย ทล.จะได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตลอดอายุสัญญา
สำหรับศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม.93+750
ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ และทางแยกต่างระดับหนองขาม พื้นที่ ต.บางพระ และ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ฝั่งขาออกมุ่งหน้าพัทยา มีขนาดพื้นที่ประมาณ 60.1 ไร่/ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 56.8 ไร่ โดยภายในศูนย์บริการจะประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ที่จอดรถ ศาลาพักผ่อน ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านขายของ สถานีบริการน้ำมันหน่วยกู้ภัย ศูนย์บริการระบบผ่านทางอัตโนมัติ เป็นต้น
มูลค่าการลงทุนโครงการ แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 784.23 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 831.34 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับระดับพื้นที่ (แล้วเสร็จ) 65.70 ล้านบาท งานถนนภายในและลานจอด 133.72 ล้านบาท งานปรับภูมิทัศน์และพื้นที่โดยรอบ 106.39 ล้านบาท งานอาคาร 367.82 ล้านบาท งานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการประจุไฟฟ้า 89.53 ล้านบาท งานระบบและอุปกรณ์ปฏิบัติงาน 6.06 ล้านบาท งานขยายเขตไฟฟ้าและประปา 9.46 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 21.49 ล้านบาท วงเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 31.17 ล้านบาท
มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic IRR) 33.43% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Economic NPV) ที่อัตราคิดลด 12% ที่ 4,926.07ล้านบาท มูลค่ารวมของค่าตอบแทนภาครัฐตลอดอายุโครงการ 1,489.06 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนของเอกชน อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 10.38% ระยะเวลาคืนทุน 11.09 ปี อัตราผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) 12.00% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่อัตราคิดลด 7.26% ที่ 435.97ล้านบาท
โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทย-มาบตาพุด) เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง ตั้งอยู่บริเวณกม.137+800 ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน พื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ฝั่งขาออก มุ่งหน้าอู่ตะเภา ขนาดพื้นที่ประมาณ 32.6 ไร่/ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้ากรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 32.6 ไร่
มูลค่าการลงทุนโครงการ แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 132.29 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 634.16 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับระดับพื้นที่ (แล้วเสร็จ) 62.92 ล้านบาท งานถนนภายในและลานจอด 62.60 ล้านบาท งานปรับภูมิทัศน์และพื้นที่โดยรอบ 60.88 ล้านบาท งานอาคาร 319.52 ล้านบาท งานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการประจุไฟฟ้า 79.18 ล้านบาท งานระบบและอุปกรณ์ปฏิบัติงาน 4.12 ล้านบาท งานขยายเขตไฟฟ้าและประปา 6.39 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 15.87 ล้านบาท วงเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 22.68 ล้านบาท
มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic IRR) 17.44% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Economic NPV) ที่อัตราคิดลด 12% ที่ 466.41 ล้านบาท มูลค่ารวมของค่าตอบแทนภาครัฐตลอดอายุโครงการ 284.72 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 7.66% ระยะเวลาคืนทุน 14.09 ปี อัตราผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) 12.00% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่อัตราคิดลด 7.26% ที่ 29.08 ล้านบาท
@ สายบางปะอิน-นครราชสีมามอาคารลอยฟ้าคร่อมถนน 2 จุดที่ “สระบุรี และขามทะเลสอ”
ส่วนโครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา มี 8 จุด (15 ตำแหน่ง) ได้แก่ 1. จุดพักรถวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม.5+500 ขนาดพื้นที่ 11 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม.3+500 ขนาดพื้นที่ 13 ไร่ 2. จุดพักรถหนองแค จ.สระบุรี (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม.26+000 ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯกม.26+000 ขนาดพื้นที่ 10 ไร่
3. สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม.51+400 ขนาดพื้นที่ 22 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม.51+400 ขนาดพื้นที่ 23 ไร่ 4. จุดพักรถทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 64+900 ขนาดพื้นที่ 11 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 65+600 ขนาดพื้นที่ 10 ไร่
5. ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง จ.นครราชสีมา (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 107+600 ขนาดพื้นที่ 69 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 108+700 ขนาดพื้นที่ 65 ไร่ 6. จุดพักรถลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา (1 แห่ง) ขาออกกรุงเทพ กม.122+000 ขนาดพื้นที่ 23 ไร่
7. สถานที่บริการทางหลวงสีคิ้ว (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 147+500 ขนาดพื้นที่ 34 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 147+000 ขนาดพื้นที่ 32 ไร่ 8. จุดพักรถขามทะเลสอ (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 173+100 ขนาดพื้นที่ 15 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 173+100 ขนาดพื้นที่ 15 ไร่
โดยที่บริการทางหลวงสระบุรีและจุดพักรถขามทะเลสอมีรูปแบบร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก บางส่วนเป็นอาคารยกระดับคร่อมเหนือช่องจราจร ที่รองรับผู้ใช้บริการทั้งสองฝั่งได้
ที่พักริมทาง M6 นี้จะแบ่งเป็น 2 สัญญาโดยแยกสัญญาที่ 1 มี 8 ตำแหน่งโซนบางปะอิน ตั้งแต่จุดพักรถวังน้อยสองฝั่งหนองแคสองฝั่ง สระบุรีสองฝั่ง ทับกวางฝั่งขาเข้า ปากช่องฝั่งขาเข้า
สัญญาที่ 2 มี 7 ตำแหน่ง โซนฝั่งนครราชสีมา ตั้งแต่จุดพักรถทับกวางฝั่งขาออก ปากช่องฝั่งขาออก ลำตะคอง ฝั่งขาออกสีคิ้วสองฝั่ง และขามทะเลสสองฝั่ง
ทั้งนี้ การแบ่งเป็น 2 สัญญาเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเหมาะสม อีกทั้งทำให้สินค้าและบริการมีความหลากหลาย ที่สำคัญ เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนรายเล็กเข้าแข่งขันได้
มูลค่าโครงการรวมที่เป็นค่าลงทุนเอกชน 2,011.98 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา 7,233.24 ล้านบาท โดยโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 18.94% มีระยะเวลาคืนทุน 16 ปี ระยะเวลาของโครงการ 32 ปี (รวมระยะเวลาออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการ) โดยผลตอบแทนทางการเงินของภาครัฐตลอดอายุโครงการที่ 933.85 ล้านบาท มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,572.61 ล้านบาท
โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 3 จุด เป็นสัญญาเดียว ได้แก่ 1. สถานที่บริการนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 19+500 ขนาดพื้นที่ 44 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 19+500 ขนาดพื้นที่ 55 ไร่ (ก่อสร้างเป็นอาคารยกระดับคร่อมเหนือช่องจราจร)
2. สถานที่บริการนครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 47+500 ขนาดพื้นที่ 30 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม. 47+500 ขนาดพื้นที่ 35 ไร่
3. สถานที่พักริมทางท่ามะกา จ.กาญจนบุรี (2 แห่ง) ขาออกกรุงเทพฯ กม. 70+900 ขนาดพื้นที่ 26 ไร่ ขาเข้ากรุงเทพฯ กม.70+900 ขนาดพื้นที่ 26 ไร่
มูลค่าโครงการ ที่เป็นค่าลงทุนเอกชน 1,351.78 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา 4,703.09 ล้านบาทโดยโครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 16.18% มีระยะเวลาคืนทุน 17 ปี ระยะเวลาของโครงการ 32 ปี (รวมระยะเวลาออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการ) โดยผลตอบแทนทางการเงินของภาครัฐตลอดอายุโครงการที่ 261.71 ล้านบาท มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 580.02 ล้านบาท
ทั้ง 2 โครงการได้จัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จอยู่ระหว่างการขออนุมัติหลักการของโครงการและรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างปี 2566 2567 เริ่มเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ปี 2566 เปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2567
คาดการณ์ปริมาณจราจรที่จะเข้ามาใช้บริการที่พักริมทางสาย M6 รวมทุกแห่งทั้ง 2 ทิศทาง ปีแรกประมาณ 14,000 คัน และเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 คันในปีที่ 30 ส่วนสาย M81 ปีแรกมีประมาณ 10,000 คัน และเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 คันในปีที่ 30
โดยโครงการจะมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม จุดบริการต่างๆ, รายได้สถานีบริการน้ำมันและสถานีประจุไฟฟ้า, รายได้จากค่าเช่าพื้นที่โฆษณา โดยสมมติฐานค่าเช่าเชิงพาณิชย์ปรับขึ้น 15% ทุก 3 ปี, ส่วนแบ่งรายได้ยอดจำหน่ายพลังงาน 0.8%
ซึ่งจุดพักรถ M6 ประมาณการรายได้ปีแรกรวม 252.58 ล้านบาท ปีที่ 10 เพิ่มเป็น 471.86 ล้านบาท ปีที่ 20 เพิ่มเป็น 718.72 ล้านบาท ปีที่ 30 เพิ่มเป็น 1,091.92 ล้านบาท รวม 30 ปี จำนวน 18,830.26 ล้านบาท
จุดพักรถ M 81 ประมาณการรายได้ปีแรกรวม 159.34 ล้านบาท ปีที่ 10 เพิ่มเป็น 302.24 ล้านบาท ปีที่ 20 เพิ่มเป็น 464.22 ล้านบาท ปีที่ 30 เพิ่มเป็น 707.26 ล้านบาท รวม 30 ปี จำนวน 12,143.80 ล้านบาท
จากการเปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุน มีผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแบรนด์ และนักลงทุนที่มีศักยภาพอีกหลายรายแสดงความสนใจ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) กลุ่มบีทีเอส, BEM และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
“จุดพักรถ “ศรีราชา-บางละมุง” มีพื้นที่อีอีซี แหล่งท่องเที่ยวภาคตะวันออก เป็นตัวกระตุ้นการเดินทางที่จะสร้างรายได้ จุดพักรถ ส่วนสายบางปะอิน-นครราชสีมา มีปากช่อง ลำตะคองเป็นจุดขาย”
ล่าสุดเสนอกระทรวงคมนาคมขอความเห็นชอบไปแล้ว คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP เคาะลงทุน มี.ค.
2565 เปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน/ลงนามสัญญา เม.ย.-ธ.ค. 2565 ก่อสร้างโครงการ 2566-2567 เปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2566
อดใจรอไม่นาน...คนไทยจะได้เห็น "จุดพักรถ" โฉมใหม่ที่ไม่ได้เป็นแค่จุดพักรถระหว่างทาง เพื่อแวะเข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน ซื้อกาแฟ หรือซื้อของฝาก แบบเดิมๆ อีก !!!