xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมร่วมปฏิบัติงานปีใหม่เต็มกำลัง มุ่งบริการขนส่งให้ ปชช.สะดวก ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ศักดิ์สยาม” ประชุมกระทรวงคมนาคม ร่วมกันปฏิบัติงานช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเต็มกำลัง มุ่งบริการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนเดินทาง อย่างความสะดวก ปลอดภัย และห่างไกลโควิด

วันนี้ (12 ม.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การประชุมประเมินผลการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้านคมนาคมขนส่งแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเข้มข้น ภายใต้แนวนโยบาย “เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” ตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 ระยะเวลารวม 7 วัน โดยสามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายของแผนใน 3 มิติ ได้แก่ มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติอำนวยความปลอดภัยในการเดินทาง และมิติด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาระบบขนส่งให้มีความคล่องตัวและปลอดภัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นแนวทางในการจัดทำแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวครั้งต่อไป ให้เกิดประสิทธิภาพ สรุปได้ดังนี้

การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สถิติการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน พบว่า ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสาร และเครื่องบิน รวมจำนวน 9.39 ล้านคน-เที่ยว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลสถิติพบว่าประชาชนทยอยเดินทางออกตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564 และเดินทางกลับพร้อมกันในวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเข้มข้น อาทิ จัดเตรียมการขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสาร เรือโดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้าและเครื่องบิน ให้เพียงพอทั้งเที่ยวไปและกลับโดยไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง พร้อมจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและท่าอากาศยาน ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ

บริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่งสาธารณะ โดยเข้มงวดการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ รถโดยสารสาธารณะและรถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ GPS โดยมีศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS เฝ้าระวังการใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรวจตราและดูแลพื้นที่บริเวณจุดตัดรถไฟกับถนน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงตรวจความพร้อมการให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งสถานี ยานพาหนะและผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ดังนี้

การตรวจสถานีและยานพาหนะ ประกอบด้วย รถโดยสารสาธารณะจำนวน 67,343 คัน พบบกพร่อง 4 คัน สั่งให้แก้ไข/เปลี่ยนทันที ท่าเรือจำนวน 179 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง สั่งให้งดบริการ/ตรวจเรือโดยสาร จำนวน 4,385 ลำ ไม่พบข้อบกพร่อง และ อากาศยานจำนวน 14 ลำ พบข้อบกพร่อง 1 ลำ สั่งให้แก้ไขทันที

การตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ตรวจพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ 67,343 คน ผู้ปฏิบัติงานรถไฟจำนวน 1,655 คน พนักงานประจำเรือ จำนวน 5,674 คน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานทุกราย ไม่พบการเสพสิ่งเสพติดและไม่พบระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ

การเกิดอุบัติเหตุในระบบขนส่งสาธารณะ ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้ รถโดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 2 คน รถไฟเกิดอุบัติเหตุจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 3 คน โดยไม่มีการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเยียวยาผู้ประสบภัยและครอบครัวอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการนำกรณีอุบัติเหตุสำคัญมาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และลดความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้เหลือน้อยที่สุด

การเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม สถิติการเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน มีประชาชนเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานครบนถนนทางหลวงสายหลัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และทางด่วน รวมจำนวน 16.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมอย่างจริงจัง อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางพิเศษ 5 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี กาญจนาภิเษก ศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร และทางหลวงพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ – พัทยา) และหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเปิด ให้ประชาชนใช้บริการเดินทางฟรีบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ในช่วงปากช่อง-สีคิ้ว ระยะทาง 35.75 กิโลเมตร รองรับทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2564 พบว่ามีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน 0.27 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ และรองรับทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-4 มกราคม 2565 พบว่า มีรถยนต์เลี่ยงไปใช้บริการสาย M6 จำนวน 0.35 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณรถบนถนนมิตรภาพ

วางแผนบริหารจัดการจราจรอย่างทันสถานการณ์เพื่อประชาชนเดินทางอย่างสะดวก โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทางและช่องทางจราจรบนถนน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกงดขนส่งสินค้า และห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปวิ่งบนถนน 7 เส้นทางหลักของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ (Rest Area) และจุดตรวจบนถนนสายหลักทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน นอกจากนี้ได้ใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับ (Drone) บินสำรวจสภาพเส้นทางจราจรบนเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น โดยบริหารจัดการจราจรร่วมกับกล้อง CCTV ครอบคลุมพื้นที่เส้นทางสายหลักเข้า-ออกกรุงเทพฯ

บริการข่าวสารข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุในหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เช่น แอปพลิเคชันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ และโทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงาน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานความปลอดภัยคมนาคมและหน่วยงานในสังกัด ให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลการเดินทางแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง

บริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งดำเนินการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน โดยเน้นบังคับใช้กฎหมายและเน้นวินัยจราจรผู้ใช้ถนนอย่างเข้มงวดในเรื่องการใช้ความเร็วบนถนนตามกฎหมายกำหนด การไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ การคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้นั่ง ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม โดยเน้นเฝ้าระวังจุดเสี่ยง (Black spot) บนสายทาง มีการตรวจจับความเร็วและถ่ายรูปป้ายทะเบียนรถยนต์บริเวณจุดเสี่ยงด้วยกล้อง CCTV มีแผนจัดเตรียมช่องทางพิเศษ ทางเลี่ยงทางลัด และจัดทำป้ายเตือนและป้ายแนะนำ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ โดยการตั้งจุดบริการประชาชน ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและปลอดภัย รวมถึงเตรียมการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ อาทิ จัดเตรียมความพร้อมกับภาคีเครือข่าย สำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพและกู้ภัย

การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 มีจำนวน 1,651 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 193 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,801 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุทางถนนบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมส่วนใหญ่ยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การขับรถตัดหน้ากระชั้น และการดื่มแล้วขับ ตามลำดับ สำหรับยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และรถส่วนบุคคล/รถสาธารณะ ตามลำดับ

กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดได้ดำเนินการตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 อย่างเข้มข้นจริงจังตลอด 7 วันของช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และจัดหาระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน คุมเข้มการกำกับดูแลและปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่นี้ลดน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และไม่มีการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำและทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ยังคงเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะและรถไฟ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งจากอุบัติเหตุและจาก COVID-19 ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อให้เกิดความคล่องตัวเข้าถึงได้ ในทุกช่วงเทศกาลวันหยุดยาวรวมถึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขให้กับประชาชน

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้เน้นย้ำข้อสั่งการ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1. ให้ สนข. พิจารณาวิเคราะห์ในรายละเอียดในแต่ละจุด/พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุถึงสาเหตุ รวมถึงกรณีอุบัติเหตุใหญ่รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟ เพื่อเสนอแนวทางป้องกัน/แก้ไข เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม นำมาจัดทำเป็นมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติ และสั่งการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
.
2. ให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงแผ่นดิน สาย 304 บริเวณเขาหินซ้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง/ปรับปรุงเส้นทางในช่วงเทศกาลจะต้องให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง คืนพื้นผิวจราจร โดยรักษาจำนวนช่องจราจรไม่ให้น้อยกว่าช่องจราจรเดิม รวมทั้งติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนและไฟฟ้าส่องสว่างให้เห็นชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น