xs
xsm
sm
md
lg

รัฐทุ่มสุดตัวแก้ของแพง เปิด 3,050 จุดขายของถูก 3 เดือน มีไก่ ไข่ สินค้าอุปโภคบริโภคให้ชอป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผีอีแพง” ตามมาหลอกหลอนถึงปี 2565 หลังสถานการณ์สินค้าในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีจากวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม ลามไปถึงอาหารทะเล ส่งผลให้พ่อค้า แม่ค้าอั้นราคาไม่ไหวทยอยปรับขึ้นราคากันอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ไม่ใช่การทยอยปรับขึ้น แต่ปรับขึ้นรวดเดียวชนิดที่ผู้บริโภคยังอดตกใจไม่ไหว เพราะราคาที่ปรับขึ้นไม่ใช่น้อยๆ ปรับกันที 5-10 บาท สำหรับอาหารตามสั่งและอาหารปรุงสำเร็จ และหลายสิบบาทสำหรับรายการอาหารที่เป็นกับข้าว

ปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้น แล้วมีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับได้ แต่ที่ยอมรับไม่ได้ ก็คือการฉวยโอกาสปรับราคาเกินไปกว่าต้นทุน ผนวกกับการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของภาครัฐ ที่ดูเหมือนไม่ทำอะไร ปล่อยให้ของแพงไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หลายปัญหารู้มาก่อนล่วงหน้าแล้วว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เคยฟังเสียงเตือน เสียงทักท้วง ปล่อยลากยาว จนปัญหาเกิดขึ้นถึงได้มาคิดจริงจังในการแก้ไขปัญหา ทำให้ดูเหมือนเป็นพวกขับเคลื่อนได้ด้วยเสียงก่นด่า

หมูแพงวันนี้ยังแก้อะไรไม่ได้

ปัญหาเรื่องหมูติดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ภาครัฐรับรู้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2562 มีการให้ติดตามสถานการณ์หลังพบการระบาดในจีนตั้งแต่ปี 2561 แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก และยังมีการปฏิเสธไม่พบ ASF ในไทย ต่อมาเจอปัญหาหมูเกิดโรคระบาด ก็โบ้ยว่าเป็นโรคเพิร์ส หรือโรคระบาดในหมูชนิดระบาดทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ แต่ในทางกลับกัน กลับมีการของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันโรค ASF ลากยาวจนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้หมูเป็นเข้าสู่ระบบลดลง

แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการยอมรับว่าโรค ASF ระบาดในไทย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานหมูตายเกลื่อน จนหนักเข้าหนีไม่ออก กรมปศุสัตว์ถึงออกมายอมรับว่ามีโรค ASF ระบาดจริง แล้วขอเวลาแก้ไขภายใน 8-10 เดือน ซึ่งไม่เรียกว่าช้าเกินไป จะเรียกว่าอะไร

ปัญหาเนื้อหมูขาดตลาด จนส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาจากหมูเป็นเข้าสู่ระบบลดลง โดยในปี 2565 คาดว่ามีความต้องการหมูเป็น 19 ล้านตัว แต่มีผลผลิตเพียง 13 ล้านตัว ขาดอยู่ 6 ล้านตัว กระทรวงพาณิชย์ได้แก้ปัญหาด้วยการสั่งห้ามส่งออกหมูมีชีวิต 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2565 ทำให้มีหมูกลับเข้าสู่ระบบ 1 ล้านตัว แต่ก็ยังขาดอีก 5 ล้านตัว จนนำไปสู่วาทะ “หมูตายไม่ถึง 20% ทำไมราคาถึงแพง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งท่านคงไม่รู้ว่า 20% นี่ปาเข้าไปเกือบ 5 ล้านตัวแล้ว ไม่ให้แพงได้ยังไง

แล้วการแก้ไขปัญหาก็ล่าช้า มีการสั่งการให้เร่งเพิ่มหมูเข้าสู่ระบบ คงไม่รู้ว่า กว่าหมูจะท้อง กว่าหมูจะออกลูก กว่าหมูจะขุน กว่าหมูจะโต ใช้เวลาไม่ใช่น้อยๆ มันแก้ปุ๊บปั๊บไม่ได้ จะทำได้เร็วสุดก็คือการนำเข้า แต่ทางออกนี้ยังไม่ชัดเจนเพราะมีเสียงไม่เห็นด้วยมาก ทั้งยังกังวลในเรื่องหมูมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนเข้ามาอีก ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะจบลงแบบไหน

ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปแทรกแซงตลาด ด้วยการขายหมูราคาถูกกิโลกรัมละ 150 บาท 667 จุดทั่วประเทศ แต่ก็จำกัดการซื้อ ทำให้ไม่สามารถดึงราคาเนื้อหมูในภาพรวมลงมาได้ ปัญหาหมูแพงก็ยังคงแพงต่อไป

ไข่แพงจบที่ตรึงไข่คละฟองละ 2.90 บาท

สำหรับไข่ไก่ เป็นสินค้าที่แก้ไขได้ไวสุด หลังผู้เลี้ยงประกาศขึ้นราคาวันที่ 10 ม.ค. 2565 จากราคาไข่คละฟองละ 2.80 บาทเป็นฟองละ 3.00 บาท หรือปรับขึ้นราคาแผงละ 6 บาท กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามหลัง ห้ามขึ้นราคา ขอให้มาคุยกันก่อน

ต่อมากรมการค้าภายในได้นัดประชุมหารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่แปดริ้ว สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี สหกรณ์ผู้ลี้ยงไก่ไข่ลุ่มน้ำน้อย ผู้ผลิตรายใหญ่ กรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในวันที่ 13 ม.ค. 2565 ได้ข้อสรุปว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่จะให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ 2.90 บาทไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน

ตรึงไก่สด-น่องติดสะโพกตามมาติดๆ

จากนั้น วันที่ 17 ม.ค. 2565 กรมการค้าภายในได้ประชุมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ผลิตรายใหญ่ ห้างค้าปลีกค้าส่ง สมาคมตลาดสดแห่งประเทศไทย และกรมปศุสัตว์ ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อหาทางออกในการตรึงราคาเนื้อไก่ หลังจากที่ราคาปรับสูงขึ้นเพราะคนหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมูมากขึ้น

โดยผลการประชุมสรุปว่า ทุกฝ่ายพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนผู้บริโภคในภาวะวิกฤต จะตรึงราคาจำหน่ายปลีก ณ ห้างค้าปลีกค้างส่ง (บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส) โดยไก่สดรวมเครื่องใน, ไก่สดไม่รวมเครื่องใน ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่องติดสะโพก ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่อง สะโพก ราคา 65-70 บาทต่อกิโลกรัม เนื้ออก ราคา 70-75 บาทต่อกิโลกรัม เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2565 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ ราคาขายปลีกในตลาดต่างๆ ก็ต้องมีราคาที่สอดคล้องกับราคาดังกล่าวด้วย


น้ำมันปาล์มราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง

แม้ปัญหาไข่ไก่ และเนื้อไก่ จะแก้ปัญหาจบลงได้ แต่น้ำมันปาล์มกลับมีการขยับขึ้นราคา หลังจากที่ต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลปาล์มดิบที่ราคาสูงขึ้นทะลุ 10-11 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดขยับขึ้นจากก่อนหน้าที่ขายกันที่ขวดละ 50-52 บาท เป็น 55-57 บาท เกินเพดานที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือไว้ที่ 55 บาท และยังมีแนวโน้มที่ราคาจะขยับเพิ่มขึ้นไปถึงขวดละ 60 บาทได้ หากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา

ผลจากน้ำมันปาล์มขวดขึ้นราคา ได้ส่งผลให้ร้านอาหาร ร้านขายของทอด ร้านขนม ได้ทยอยปรับขึ้นราคาในทันที เป็นการปรับขึ้นราคา 2 เด้ง โดยเด้งแรกปรับขึ้นจากต้นทุนหมูแพง และเด้งต่อมาคือ น้ำมันปาล์มแพง

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในประเมินว่าการตึงตัวของราคาน้ำมันปาล์มขวดน่าจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพราะผลผลิตปาล์มฤดูกาลใหม่กำลังออกสู่ตลาดแล้วในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 นี้ สถานการณ์ก็น่าจะเบาบางลง และราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นทุกรายการ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้อาหารมีต้นทุนวัตถุดิบขึ้นราคาเป็นอย่างมาก ทั้งหมู ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะเนื้อหมู เพิ่มขึ้น 30% เนื้อไก่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-20 บาท สินค้าอาหารทะเลปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 30-150 บาท ทั้งกุ้ง หมึกสด หอย และปู เนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีในช่วงเทศกาลปีใหม่มีความต้องการอาหารทะเลมาก อีกทั้งค่าขนส่งมีการปรับขึ้น สินค้าผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น 10-15% ราคาผักที่ได้รับความนิยมแพงขึ้นกิโลกรัมละ 5-15 บาท เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม

นอกจากนี้ ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกพืช จากการปรับราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้นตามน้ำมัน และอาหารสัตว์ที่สูงสุดรอบ 13 ปี เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%

ชงรัฐช่วยลดต้นทุนดึงไม่ต้องขึ้นราคา

สำหรับแนวทางแก้ไขที่อยากจะเสนอต่อภาครัฐ นายวิศิษฐ์ระบุว่า อยากให้ภาครัฐช่วยออกกฎ หรือแก้กฎบางข้อเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า หาทางช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วและจริงจัง เพื่อลดอุปสรรคในด้านต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลเรื่องราคาน้ำมันอย่างจริงจัง ค่าไฟฟ้า ที่จะปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2565 เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ปรับตามแผน ทบทวนภาษีความเค็ม ซึ่งหากจะเก็บก็ต้องเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญสูงถึง 6 กลุ่ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf Stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว

ขณะเดียวกัน ขอให้พิจารณาไม่เก็บอากรเอดีสินค้าฟิล์มบีโอพีพี ที่เป็นต้นทุนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าหลากหลายชนิด และขอให้ยกเลิกมาตรการการเก็บอากรเอดีของเหล็กทินเพลต และทินฟรี ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารกระป๋อง

ส่วนกรมการค้าภายในขอให้พิจารณาเรื่องการขอปรับขึ้นราคาให้เหมาะสม หากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจนภาคเอกชนไม่สามารถแบกรับและตรึงราคาไว้ไหว และขอให้หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุของการขึ้นราคาว่าเป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมรับมือ และทำความเข้าใจในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งเกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก

จัดการพวกฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ขอให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับพ่อค้า แม่ค้า ที่ค้ากำไรเกินควร กระทำการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะบางสินค้าต้นทุนไม่ขึ้น แต่ฉวยโอกาสมั่วนิ่มปรับขึ้นราคาด้วย เช่น เดิมขายข้าวขาหมู เมื่อเนื้อหมูแพงก็ปรับขึ้นราคา แล้วร้านเดียวกันนี้ ขายข้าวมันไก่ด้วย แต่ไก่ไม่ปรับขึ้นราคา แต่ก็ขอปรับราคาข้าวมันไก่ด้วย อ้างว่าเพื่อให้เท่าเทียมกัน หรือให้เป็นการง่ายต่อการคิดราคากับลูกค้า ซึ่งถือว่าไม่สมเหตุสมผล

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าในส่วนของข้าวเหนียว ที่ใช้ในเมนูส้มตำ หรือเมนูหมูปิ้ง ก็ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาด้วย ทั้งๆ ที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาต่ำกว่าปกติด้วยซ้ำ จนรัฐต้องจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้มาแล้วถึง 14 งวด

รัฐพลิกเกมแก้แพงทั้งแผ่นดิน

หลังปล่อยให้สถานการณ์บานปลายมาแล้วระยะหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ได้พลิกเกมสู้ โดยได้นำเสนอ ครม.ขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการพาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน ปี 2565 วงเงินรวม 1,480 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 ได้อนุมัติให้ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อประชาชนได้มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในราคาประหยัดได้มากขึ้นโดยเฉพาะ เป็นการช่วยให้สามารถเข้าถึงประชาชน อันเป็นการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยงได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการบริโภคภาคครัวเรือน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และสุดท้ายเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

เปิดรายละเอียด 3,050 จุดอยู่ตรงไหนบ้าง

สำหรับรูปแบบการดำเนินการ กระทรวงพาณิชย์จะจัดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้แก่ประชาชนในราคาประหยัด ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน โดยจะเปิดจุดจำหน่ายสินค้าราคาถูกรวม 3,050 จุด มีสินค้าที่จะจำหน่าย เช่น เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น จะจำหน่ายตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะจำหน่ายผ่านรถ Mobile จำนวนไม่น้อยกว่า 50 คัน ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในต่างจังหวัด จะเปิดจุดจำหน่ายบริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด หรือพื้นที่สาธารณะ หรือลานอเนกประสงค์ และสถานีบริการน้ำมัน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด

ทั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยลดภาระค่าครองชีพ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากภาวการณ์ปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากโรคระบาดจากสัตว์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในราคาประหยัดได้มากขึ้น

ก็ได้แต่หวังว่า การเปิดจุดขายของถูกทั้งแผ่นดิน 3,050 จุด จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบอาหารแพง ของแพง ลงมาได้ไม่มากก็น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น