xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตอาหารโอดต้นทุนจ่อขยับ 10-20% ตรึงไม่ไหววอนรัฐช่วยเหลือด่วน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารยอมรับต้นทุนการผลิตแนวโน้มจะเพิ่มอีก 10-20% ต่อเนื่องภายใน 3-6 เดือนข้างหน้านี้อาจทำให้จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า วอนภาครัฐเร่งหามาตรการดูแลต้นทุน แจงยิบต้นทุนขึ้นรอบด้านทั้งวัตถุดิบ หมู ไก่ ไข่ ผัก จากค่าปุ๋ย อาหารสัตว์ ต้นทุนค่าพลังงาน บรรจุภัณฑ์ ค่าระวางเรือ ต้นทุนจากการป้องกันโควิด-19 ในโรงงาน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะนายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารภาพรวมปี 2565 ยังคงเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มต้นทุนจะปรับตัวสูงขึ้นอีกใน 3-6 เดือนข้างหน้าราว 10-20% เนื่องจากปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายสินค้าได้ตรึงราคาไว้และมีโอกาสสูงที่จะต้องปรับราคาขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกกฎหรือแก้กฎบางข้อเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิตอย่างรวดเร็วและจริงจังเพื่อลดอุปสรรคด้านต้นทุนที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตลอดปี 2564 รัฐได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยบริหารจัดการต้นทุน เพื่อตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ในปีนี้การขึ้นของราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่งยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า เว้นแต่ภาครัฐจะมีมาตรการเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการชะลอการปรับราคาออกไป” นายวิศิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในทุกสินค้าซึ่งเกิดจากการขาดสมดุลทางการตลาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการปรับตัวของราคาน้ำมันตลาดโลก โดยปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขึ้นราคาของสินค้าอาหารประเภทต่างๆ มีดังนี้ ต้นทุนวัตถุดิบ หมู ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ แพงขึ้น อาทิ เนื้อหมูปีนี้เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพราะปริมาณลดลงจากปีละ 20 ล้านตัว โดยคาดว่าปี 65 จะอยู่ที่ 13 ล้านตันเพราะกรมปศุสัตว์ได้ประกาศพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากเดิมที่พบแค่โรคเพิร์ส (PRRS) หรือโรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของสุกร

เนื้อไก่ปรับขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-20 บาท สินค้าอาหารทะเลปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 30-150 บาท ทั้งสินค้ากุ้ง หมึกสด หอย และปู เนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีในช่วงเทศกาลปีใหม่มีความต้องการอาหารทะเลมาก อีกทั้งค่าขนส่งมีการปรับขึ้น สินค้าผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น 10-15% ราคาผักที่ได้รับความนิยมแพงขึ้นกิโลกรัมละ 5-15 บาท เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม ฯลฯ

“ต้นทุนการเลี้ยงและการเพาะปลูกมีการปรับราคาทั้งปุ๋ยเคมีที่ปรับสูงขึ้นตามน้ำมันและอาหารสัตว์ที่สูงสุดรอบ 13 ปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เช่น ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง” นายวิศิษฐ์กล่าว

สำหรับแนวทางแก้ไขที่อยากจะเสนอต่อภาครัฐ 1. ขอให้ภาครัฐช่วยออกกฎ หรือแก้กฎบางข้อเพื่ออำนวยความสะดวกทางการ หาทางช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วและจริงจังเพื่อลดอุปสรรคในด้านต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลเรื่องราคาน้ำมันอย่างจริงจัง ค่าไฟฟ้า ที่จะปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2565 เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ปรับตามแผน ทบทวนภาษีความเค็ม ซึ่งหากจะเก็บก็ต้องเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญสูงถึง 6 กลุ่ม ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf Stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว พิจารณาเก็บอากรเอดีฟิล์มบีโอพีพี ที่เป็นต้นทุนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าหลากหลายชนิด ยกเลิกมาตรการการเก็บอากรเอดีของแผ่นเหล็ก Tin plate และ Tin free ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าอาหารกระป๋อง

2. ขอให้กรมการค้าภายในพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคา หากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจนภาคเอกชนไม่สามารถแบกรับและตรึงราคาไว้ไหว เนื่องจากต้นทุนในทุกๆ ด้านมีการปรับตัวขึ้นสูง 3. ให้หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงปัจจัยการขึ้นราคา ที่เป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมรับมือ และทำความเข้าใจในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันในภาะวะเงินเฟ้อทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น