“คมนาคม” หารือ "ญี่ปุ่น" รับทราบผลศึกษาเบื้องต้นโครงการอุโมงค์ "นราธิวาส-สำโรง" เพื่อแก้ปัญหาจราจร เร่งวางกรอบงบลงทุน และร่วมมือพัฒนาศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุบนทางหลวง และถอดบทเรียน PPP พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าของญี่ปุ่น
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร ครั้งที่ 1/2565 ว่า ได้หารือร่วมกับ Mr. KAKISHITA Yoshihiro ผู้อำนวยการกองโครงการต่างประเทศ Policy Bureau, MLIT และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของฝ่ายญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า จากบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ MLIT ที่ลงนามเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พฤษภาคม 2564-พฤษภาคม 2569) ซึ่งได้กำหนดขอบเขตการดำเนินการความร่วมมือทางวิชาการ 5 ประเด็น ที่จะมีการดำเนินการร่วมกันในปี 2565
ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) เป็นหนึ่งในเส้นทางเพี่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษของกระทรวงคมนาคมตามแผนแม่บท ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นยินดีให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในมิติด้านการเงินและสัดส่วนการลงทุน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิศวกรรม โดยพร้อมดำเนินการต่อยอดจากผลการศึกษาในขั้นต้นที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2564
2. โครงการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรอง รวมถึงถนนท้องถิ่นเชื่อมต่อจากเส้นทางสายหลักในโครงการ MR-MAP ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมแผนการดำเนินการทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสนับสนุนทั้งการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ ข้อมูลการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และการกำหนดเส้นทางถนนที่เหมาะสมกับการใช้งาน สอดคล้องกับบริบทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รูปแบบต่างๆ โดยขอรับคำแนะนำจากญี่ปุ่น เพื่อเป็นรากฐานต่อยอดการดำเนินงานต่อไป
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวทางการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีการดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของฝ่ายญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
4. แนวทางการพัฒนาโครงสร้างศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุของกรมทางหลวง (Highway Traffic Operation Center : HTOC) ศูนย์ HTOC ใช้ระบบ ITS ตรวจสอบสภาพจราจรบนเส้นทางสายหลักภายในรัศมี 250 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้เส้นทางในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ และช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทาง การจัดตั้งองค์กรที่มีรูปแบบการดำเนินการที่คล้ายคลึงกับ HTOC การกำหนดโครงสร้างองค์กร แหล่งงบประมาณ และการสนับสนุนการนำข้อมูลด้านการจราจรมาใช้ประโยชน์
5. โครงการพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาทางลอดสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยจะหยิบยกแนวทางการดำเนินการ ทั้งการตรวจสอบและบำรุงรักษา ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ และการเตรียมการรองรับภัยพิบัติ เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับฝ่ายญี่ปุ่น
นายชยธรรม์กล่าวว่า ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) ได้เสนอฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาประเด็นเรื่องงบประมาณการลงทุนให้เหมาะสม ทั้งนี้คาดหวังให้มีการรายงานความคืบหน้าทั้ง 5 โครงการในทุกไตรมาสเพื่อคลี่คลายปัญหาเป็นระยะต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสำโรง-ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ เบื้องต้นมีระยะทาง 8.7 กม. โดยทาง MLIT ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาด้านเทคนิคการก่อสร้างซึ่งโครงการจะเป็นระบบทางด่วนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และบางกระเจ้า เพื่อเป็นทางบายพาสรับรถที่มาจากภาคใต้ไปทางด้านตะวันออกได้โดยไม่ต้องวิ่งผ่าน กทม. โดยแนวเส้นทางดังกล่าวจะบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง