xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เปิดตัว "SAI" นำร่อง กทม.แปรรูปเห็ดเป็นเนื้อสัตว์ จ่อโชว์ผู้นำ APEC ตอบโจทย์ BCG โมเดล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” เปิดตัวโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI ปี 2565 จับมือภาคเอกชน และ ม.เกษตรฯ นำร่อง กทม. ผุด Plant Based เพาะเห็ดแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์ เดินหน้าสู่อาหารแห่งอนาคต รับ BCG โมเดล ลดโลกร้อน หวังโชว์ผู้นำ APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประชุม พ.ย. พร้อมเล็งขยายผลให้ครบ 5 ภูมิภาค

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การดำเนินงานของ ส.อ.ท.ในปี 2565 จะมุ่งเน้นการสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green Economy) ของประเทศเพื่อปรับเปลี่ยนหรือ (Transformation) ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะสร้างการเติบโตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน มีการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อลดโลกร้อนตามทิศทางของโลกผ่านกิจกรรมสำคัญ คือ โครงการการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ(Smart Agriculture Industry) หรือ SAI โดยในปี 2565 จะนำร่อง SAI In The City ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“เราจะดำเนินงาน SAI In The City โดยได้ลงนามกับเอกชน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำ Plant Based ซึ่งเป็นอาหารที่จะทำจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ โดยยังคงรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ เนื้อ ทำให้เสมือนหนึ่งว่าได้รับประทานเนื้อสัตว์จริงแต่เป็นพืช 100% กำลังเป็นอาหารแห่งอนาคตที่เป็นเทรนด์ของโลกที่ช่วยดูแลร่างกายของคนเราให้แข็งแรงเพราะอาหารชนิดนี้เคลอรีต่ำจนถึงไม่มีเลย และที่สำคัญไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนการทำปศุสัตว์” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ Plant Based ดังกล่าวจะเป็นการเพาะเห็ดเพื่อแปรรูปเป็นเนื้อสัตว์ โดย ม.เกษตรฯ ได้สนับสนุนที่ดินในการจัดทำโครงการนำร่องประมาณ 5-10 ไร่ที่เขตบางเขน และภาคเอกชนจะร่วมกันสนับสนุนจัดตั้งโรงเพาะเห็ด นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการทั้งระบบน้ำ การควบคุมอุณหภูมิ ที่ต้องตอบโจย์แนวทาง BCG เช่น ไม่ทิ้งของเสีย(Zero Waste) ใช้พลังงานทดแทน ฯลฯ โดยเห็ดที่เพาะปลูกจะมีทั้งเมืองร้อนและหนาว โครงการนี้จะเป็นการนำเสนอหรือ Showcase ให้กับผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 ((APEC 2022) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพภายใต้ธีม BCG โมเดลในช่วงเดือน พ.ย. 65

สำหรับ Plant Based Meat หรือเนื้อที่ทำจากพืชกำลังเป็นที่นิยมของตลาดโลกเพราะเป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมของโลก 75% ถูกใช้ไปกับการเลี้ยงสัตว์และปลูกอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมนี้ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18% ขณะเดียวกัน ภายในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านคน ซึ่งอาจทำให้โลกรองรับการผลิตไม่ไหว เพราะนอกจากจะไม่มีพื้นที่ป่าเพียงพอให้ถางไปทำฟาร์ม ก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ยังยิ่งทำให้โลกร้อนแบบกู่ไม่กลับอีกด้วย

นายเกรียงไกรกล่าวว่า หลังจากการดำเนินงานนำร่องที่ ม.เกษตรศาสตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ส.อ.ท.จะพัฒนา SAI ให้ครบทั้ง 5 ภาค ซึ่งแต่ละแห่งจะมีขนาดพื้นที่ต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับความต้องการวัตถุดิบของภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดจะมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ BCG โมเดล และการลดโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยอีกด้วย

“ไทยเรามีศักยภาพในการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตเพราะเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเป็นเกษตรและมีความหลากหลายทางชีวภาพ เพียงแต่จะต้องยกระดับการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น