xs
xsm
sm
md
lg

EIA ฉลุย! ด่วน 3 สายเหนือจ่อประมูลปี 65 "ศักดิ์สยาม" สั่งเจรจา ม.เกษตรฯ ปรับแบบลดผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ผ่าน EIA แล้ว "คมนาคม" เตรียมถก ม.เกษตรฯ อีกรอบ ดันสร้างตอน N1 พร้อม N2 ชง ครม.ปี 65 "ศักดิ์สยาม" ยันฟังความเห็นรอบด้าน เผยอุโมงค์ค่าก่อสร้างสูงกระทบค่าผ่านทางแพง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/64 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ได้เห็นชอบโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือ และสายใต้) เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกแล้ว ซึ่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาดำเนินการ ซึ่งมีงบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนวน 14,382 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อสร้างทางด่วน ตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. ซึ่งมีความพร้อมแล้ว

ส่วนตอน N1 ซึ่งยังติดปัญหาช่วงผ่านหน้า ม.เกษตรฯ นั้น ได้มอบให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับ ม.เกษตรฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย รูปแบบการก่อสร้าง โดยกระทรวงคมนาคมจะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องการปรับรูปแบบเป็นอุโมงค์ก็เป็นทางเลือกที่คิดไว้ แต่การทำเป็นอุโมงค์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเป็นทางเลือกที่จะหารือกับ ม.เกษตรฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งอุโมงค์ใช้เงินลงทุนมาก ก็ต้องเก็บค่าใช้บริการแพง

"ในการดำเนินโครงการอาจมีความเห็นหลากหลาย ก็มาหารือกัน ต้องบอกว่าทำแบบนี้ประโยชน์คืออะไร สิ่งที่ ม.เกษตรฯ กังวลเรื่องเสียง เรื่องฝุ่น เรามีวิธีแก้ไขอย่างไร ถ้าอธิบายแล้ว ม.เกษตรฯ เห็นด้วยก็เดินหน้าเต็มที่ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องทำเท่าที่เห็นด้วย เพราะสิ่งที่เป็นข้อจำกัดเรื่องนี้ คือภาระอัตราดอกเบี้ยของ TFF วันนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย จ่ายอย่างเดียว ในแง่ของการบริหารถือว่าไม่โอเค โดยในส่วนของการหารือกับ ม.เกษตรฯ จะดำเนินการคู่ขนานไปกับการนำเสนอตอน N2 เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ คาดว่า N2 จะเสนอ ครม. และเปิดประมูลในปี 2565"

แต่อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือจะมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการทั้ง N1, N2 เพราะเป็นโครงข่ายเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อและถ่ายโอนปริมาณจราจรจากงามวงศ์วานไปยังวงแหวนตะวันออก ตนเชื่อว่าจึงต้องมาคุยกันถึงข้อดีข้อเสีย ส่วนกรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)  นั้นไม่ได้ติงเรื่องนี้ เพียงแต่สภาพัฒน์ฯ ต้องการดูผลตอบแทนการลงทุนและผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่ตอน N2 ที่ต้องดำเนินการเพราะว่าปัญหาการจราจรติดขัดค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องมีทางออกอยู่แล้ว แต่ละเรื่องก็จะมีปัจจัยที่จะเข้าไปสู่ความสำเร็จแตกต่างกัน ซึ่งอุโมงค์ก็ใช้เงินมาก แต่ก็ต้องเก็บค่าใช้บริการแพง




กำลังโหลดความคิดเห็น