“ศักดิ์สยาม” สั่ง ทล. ทช. กทพ.ปรับโครงการก่อสร้างที่มีผลตอบแทนสูง ใช้กองทุน TFF ดำเนินการแทนงบหรือเงินกู้เพื่อลดภาระงบรัฐ ยกเครื่องเป็นทางพิเศษให้ กทพ.บริหารเก็บค่าธรรมเนียมคืนกองทุน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการต่างๆ ในปี 2565 และในอนาคตกระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อทุกโครงการแต่จะต้องดูเรื่องงบประมาณประกอบด้วย ซึ่งได้ให้โจทย์แก่หน่วยงานหลักๆ ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาในเรื่องกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) เพื่อนำใช้ในการลงทุนโครงการหรือเส้นทางช่วงที่มีกำไรผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี หรือมี EIRR สูง
เนื่องจากในการดำเนินโครงการก่อสร้างจะมีการศึกษาโครงการไว้ตลอดสายเป็นค่าเฉลี่ย EIRR ซึ่งบางช่วงของสายทางอาจจะมีปริมาณการจราจรมาก ขณะที่ช่วงที่อยู่ไกลออกไปอาจจะมีปริมาณจราจรน้อยลง ดังนั้นอาจจะให้ตัดตอนหรือช่วงที่มีความคุ้มค่าออกมาเงินจากกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ลงทุนเพื่อลดภาระงบประมาณ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หากมีช่วงหรือตอนใดเหมาะสมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน และให้กทพ.รับพื้นที่หรือโครงการในช่วงนั้นไปดำเนินการ เพราะ กทพ.สามารถระดมทุนฟิวเจอร์ฟันด์ได้ และปรับเป็นทางพิเศษที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้ทาง ซึ่งนอกจากช่วยในเรื่องภาระงบประมาณของภาครัฐแล้ว จะเลือกโครงการที่มีศักยภาพ เช่น หากเดิมประชาชนต้องเดินทางอ้อม เส้นทางนี้จะช่วยย่นระยะทางในการเดินทางได้ หรือเป็นเส้นทางที่มาช่วยเรื่องแก้ปัญหาจราจร
“ตอนนี้ให้นโยบายไปหารือกันก่อน ซึ่งมีหลายโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ เช่น โครงการก่อสร้างสะพาน อาทิ สะพานเชื่อมเกาะลันตา”
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ วงเงิน 1,600 ล้านบาท เป็นโครงการของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สำหรับรายงานที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้ใช้เงินกู้ดำเนินงาน ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ อยู่ระหว่างการพิจารณาแหล่งเงินนอกงบประมาณที่เหมาะสม เช่น เงินกู้ใน/ต่างประเทศ หรือTFF
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโครงการที่มีผลตอบแทนในการลงทุนและสามารถใช้เงินกู้ หรือ TFF มาดำเนินการได้ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ หรือ (M8) วงเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท ซึ่งกรอบวงเงิน ค่างานโยธา ที่รัฐลงทุนราว 55,805 ล้านบาท ส่วนงานระบบและการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ให้เอกชนลงทุน PPP