xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางเร่งผุด R-Map แผนแม่บทรถไฟสายใหม่ แตกแขนงเชื่อมแหล่ง "อุตฯ-เกษตร-ท่องเที่ยว" ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางเร่งศึกษาผุด R-Map วางแผนแม่บท เติมโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายใหม่เแตกแขนงเชื่อมอุตสาหกรรมกว่า 91 แห่งใน 18 จังหวัด และพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ พลิกโฉมระบบขนส่ง ลดต้นทุนโลจิสติกส์

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเปิดตัว “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP ) ว่า โครงการนี้จะมีการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ เพื่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายเดิมกับแหล่งเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัด และภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้งระยะที่ 2 และสายใหม่ เพิ่มถึง 17 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,932 กม. แต่ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างทางเพิ่มอีก 1 ทางคู่ไปตามแนวรถไฟเดิม ในขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งแหล่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และชุมชน ดังนั้นเส้นทางรถไฟที่มีจึงอาจยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แหล่งอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มีระบบรางเข้าถึงช่วยการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุนอย่างแท้จริง

ประกอบกับการที่รัฐบาลมีความต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ซึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เพื่อให้สามารถสนับสนุนการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ


โครงการ R-map เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในปี 2565-2566 ด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางรางเพื่อบูรณาการ โครงข่ายระบบรางสร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน หรือสรุปผลในเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะนำไปจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อให้เป็นรูปธรรม โดยจะเชื่อมต่อการขนส่งทางราง กับแหล่งอุตสาหกรรมกว่า 91 แห่ง ใน 18 จังหวัด เพิ่มการขนส่งสินค้างทางรางเป็น 7% ในปี 2570 และเป็น 10% ในปี 2580 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่ำกว่า 11% ในปี 2570 และต่ำกว่า 9% ในปี 2580

โดยมีขอบเขตการศึกษา 4 ส่วน คือ 1. การทบทวน สำรวจ รวบรวมข้อมูลผลการศึกษาและการดำเนินงานของแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ 3. การจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 4. การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ดำเนินการศึกษาดังกล่าวเกิดความครบถ้วน สมบูรณ์ และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น