xs
xsm
sm
md
lg

PTTEP ชี้ เม.ย. ปี 65 ปริมาณก๊าซฯ แหล่งเอราวัณดิ่ง รัฐยอมเลื่อนการผลิตตามสัญญา PSC ไป 2 ปีไร้ค่าปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.โอดการผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณลดฮวบเหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มสัญญาระบบ PSC เม.ย. 65 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะผลิตอยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ระบุกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไฟเขียวให้เลื่อนการผลิตตามสัญญา PSC ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันออกไป 2 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าปรับ เหตุบริษัทไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและท่อส่งก๊าซฯ ล่วงหน้าได้ พร้อมมั่นใจการแพร่ระบาดโอมิครอนไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการขายปิโตรเลียมปีหน้าที่ 467,000 บาร์เรล/วัน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ลงนาม 3่ สััญญากับเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตแล้วว่า บริษัทจะเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณในเดือนมกราคม 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมในการติดตั้งแท่นหลุมผลิตจำนวน 8 แท่นรวมทั้งการเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบท่อต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้แหล่งเอราวัณสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามที่กำหนดในสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ภายใน 24 เดือน

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้เจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้วเพื่อขอเลื่อนเวลาไป 2 ปีในการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณให้ได้ตามสัญญา PSC ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยยืนยันว่าบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าปรับจากการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อส่งก๊าซฯ เพิ่มเติมล่วงหน้าได้ เหตุเพราะเชฟรอนฯ ไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่แม้ว่าบริษัทพร้อมจ่ายค่าเสียหายหากการเข้าพื้นที่ระยะ 2 สร้างความเสียหายก็ตาม


อีกทั้งปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณที่เชฟรอนฯ ในฐานะผู้ดำเนินการปัจจุบัน พบว่าขณะนี้มีอัตราการผลิตก๊าซฯ เหลือเพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเมษายน 2565 คาดว่าการผลิตก๊าซฯ จะลดเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากก่อนหน้านี้ 2 ปีแหล่งเอราวัณเคยผลิตก๊าซฯ อยู่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเชฟรอนเคยแจ้งต่อผู้ซื้อก๊าซฯ (ปตท.)ั จะทยอยลดปริมาณการผลิตและขายก๊าซฯ แบบขั้นบันไดเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 แหล่งเอราวัณจะผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเชฟรอนฯ จะไม่มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก หลังไม่ได้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ

นายมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วคาดว่าเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน2565 ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าเมื่อ ปตท.สผ.เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในวันที่ 24 เมษายน 2565 ที่จะมีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องปิดแท่นผลิตกลางในแหล่งเอราวัณจำนวน 3 แท่นจากปัจจุบันที่มีแท่นผลิตกลางอยู่ 8 แท่น เพื่อความปลอดภัยและรักษาการผลิตระยะยาว โดยบริษัทจะเร่งเจาะหลุมปิโตรเลียมเพิ่มเติมกว่า 100 หลุมต่อปี เพื่อให้มีก๊าซฯ มากเพียงพอในการกลับมาเปิดแท่นผลิตกลางทั้ง 3 แท่นได้ใหม่อีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบริษัทจะมีการเร่งลงทุนในแหล่งเอราวัณเพิ่มเติมเพื่อให้การผลิตก๊าซฯ มาอยู่ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2567 นั้น จะไม่ส่งผลต่องบการลงทุน 5 ปีที่เคยตั้งไว้ โดยในปีหน้าบริษัทจะลงทุนในแหล่งเอราวัณคงเท่าเดิมที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ


ทั้งนี้ ปตท.สผ.มั่นใจว่าปี 2565 บริษัทจะเร่งผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณให้มาอยู่ที่ระดับ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเร่งเพิ่มการผลิตก๊าซจากแหล่งบงกชจาก 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มเป็น 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์จาก 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มเป็น 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) เพิ่มอีก 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมแล้วเพิ่มปริมาณก๊าซได้ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณที่หายไป ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่ยังไม่เพียงพอต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหน้าที่ของ กกพ.ในการจัดหาต่อไป

นายมนตรีกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-18 สายพันธุ์โอมิครอน เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทยังคงเป้าหมายปริมาณปิโตรเลียมของบริษัทในปีหน้าอยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น11% จากปีนี้ที่มีการขายปิโตรเลียม 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้การขายเต็มปีจากโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้งรับรู้การขายเพิ่มขึ้นจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) และแหล่งบงกช (G2/61) เพิ่มเข้ามา ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และโครงการในแอลจีเรีย ฮาสสิเบอร์ราเคซด้วย

ในปี 2565 บริษัทยังวางเป้าหมายในการเร่งรัดโครงการแหล่งปิโตรเลียม 4 แหล่งใหม่ในมาเลเซียที่อยู่ในช่วงสำรวจให้สามารถเร่งผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้นจากเดิมต้องใช้เวลา 5-7 ปีเป็น 3-4 ปีแทนเพื่อให้เกิดความสมดุลกับตลาด และเร่งปิดดีลการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) โครงการปิโตรเลียมเพิ่มเติมในประเทศเป้าหมาย คาดว่าปี 2565 จะปิดดีล M&A เพิ่มเติม รวมไปถึงการจัดพอร์ตการลงทุน โดยจะทยอยขายโครงการลงทุนแปลงปิโตรเลียมในประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายออกไปเหมือนกับที่ขายโครงการลงทุนในบราซิล

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เชฟรอนประเทศไทย และ PTTEP ED บริษัทย่อย ปตท.สผ. ลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2 หรือ SAA2) ข้อตกลงการโอนถ่ายการดำเนินงาน (Operations Transfer Agreement: OTA) และข้อตกลงการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน (Asset Retirement Access Agreement หรือ ARAA) ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของ PTTEP ED ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณ


กำลังโหลดความคิดเห็น