xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.กางแผนลงทุนปี 65 ติดเครื่องลุยตะวันออกกลาง-มาเลย์รับน้ำมันพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มติการประชุมโอเปกพลัสล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คงรักษาข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 4 แสนบาร์เรล/วันในเดือนมกราคม 2565 สวนทางกับการคาดการณ์ว่าโอเปกพลัสจะระงับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 65 เพื่อรับมืออุปสงค์ที่อาจลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่ประกาศระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์

การตัดสินใจคงมติเดิมของโอเปกพลัสครั้งนี้เป็นการแสดงความเชื่อมั่นว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องทบทวนแผนการผลิตของกลุ่ม ซึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกในเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 27.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 0.22 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าข้อตกลงที่ระดับ 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ ปตท.ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2565 จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 67-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่มีปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจมีผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน รวมถึงนานาประเทศได้วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. แกนนำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ของ ปตท.ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในปี 2564 ถือเป็นปีหนึ่งที่ ปตท.สผ.มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในต่างประเทศค่อยข้างมากโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปลงทุนถือหุ้นร้อยละ 20 ในโครงการโอมาน แปลง 61 รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติถึงประมาณร้อยละ 35 ของประเทศ โดยบริษัทใช้เงินสูงถึง 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการขายในปี 2564 เพิ่มขึ้นทันที

ล่าสุด ปตท.สผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิเพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 25 ในแปลงสัมปทานแอเรีย ซี (Concession Area C) ในรัฐชาร์จาห์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากบริษัท อีเอ็นไอ ชาร์จาห์ บี.วี. ในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) บริษัทพลังงานรายใหญ่ของประเทศอิตาลี หลังจากก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ร่วมกับอีเอ็นไอในการลงทุนโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2  และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ในยูเออี ซึ่งทั้ง 3โครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ

นอกเหนือจากการลงทุนในตะวันออกกลางแล้ว การเจาะหลุมสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศมาเลเซียก็มีความคืบหน้าได้ผลสำเร็จด้วยดี อาทิ การเจาะหลุมประเมิน Lang Lebah-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี นอกชายฝั่งรัฐซาราวักประมาณ 90 กิโลเมตร ประเทศมาเลเซีย พบแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่กว่าการประมาณการเบื้องต้น นับเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของปตท.สผ. โดยบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อดำเนินโครงการนี้ คาดว่า Lang Lebah-2 จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 ด้วยกำลังการผลิตเฉลี่ย 800-1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ที่ Dokong-1 และหลุมสำรวจ Nangka-1 ในโครงการซาราวักเอสเค 417 บริเวณนอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ทำให้ ปตท.สผ.สามารถพัฒนาและผลิตก๊าซฯ ร่วมกันกับโครงการซาราวักเอสเค 410 บี ในรูปแบบกลุ่มโครงการ (Cluster Development) ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย


นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2565 อยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีนี้ที่มีการขายปิโตรเลียม 417,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้การขายเต็มปีจากโครงการโครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้งรับรู้การขายเพิ่มขึ้นจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) และแหล่งบงกช (G2/61) เพิ่มเข้ามา ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และโครงการในแอลจีเรีย ฮาสสิเบอร์ราเคซด้วย

ในปี 2565 บริษัทยังวางเป้าหมายในการเร่งรัดโครงการแหล่งปิโตรเลียม 4 แหล่งใหม่ในมาเลเซียที่อยู่ในช่วงสำรวจให้สามารถเร่งผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้นจากเดิมต้องใช้เวลา 5-7 ปีเป็น 3-4 ปีแทนเพื่อให้เกิดความสมดุลกับตลาด และเร่งปิดดีลการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A)โครงการปิโตรเลียมเพิ่มเติมในประเทศเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ปตท.สผ.ได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจรับมือ โดยเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลักเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยลงทุนในประเทศที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นไทย เมียนมา และมาเลเซีย และแถบตะวันออกกลางเน้นโอมานและยูเออี โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20%


รวมทั้งหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) เน้น 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI &Robotics) โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี (ARV) ล่าสุด ARV เพิ่งได้จัดตั้ง 4 บริษัทย่อย เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการด้านการสำรวจ ตรวจสอบ และซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์, บริษัท สไกลเลอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด ให้บริการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการโดรนและเทคโนโลยีดาวเทียมในการสำรวจพื้นที่และประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ และบริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด เครือข่ายด้านสุขภาพพัฒนาเทคโนโลยี IoT โดยจะหาพาร์ตเนอร์เพื่อผลักดันให้เป็น Startup

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ในเมียนมา และพลังงานหมุนเวียน จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ ปตท.สผ.เน้นลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมองโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โดย ปตท.สผ.ได้เริ่มทดลองทำการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนอัดกลับไปในชั้นที่แหล่งอาทิตย์แล้วศึกษาการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนด้วย รวมทั้งศึกษาพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน โดยตั้งเป้าหมายว่าบริษัทมีกำไรจากธุรกิจใหม่ในสัดส่วนราว 20% ภายในปี 2573


ตั้งงบลงทุน 5 ปี 9.11 แสนล้านบาท

บริษัทได้ตั้งงบการลงทุน 5 ปี (2565-69) ที่ 27,164 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 911,124 ล้านบาท โดยเน้นการลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่ ปตท.สผ.ได้สำรวจพบหลายแหล่งในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งแผนเพิ่มการผลิตและแผนพัฒนาโครงการดังกล่าว ทำให้ตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% รวมทั้งใช้ลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานและเข้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

ในปี 2565 ปตท.สผ.จะใช้เงินลงทุนรวม 5,666 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 190,046 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนราว 3,217 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อรักษาปริมาณการผลิตจากโครงการต่างๆ เป็นวงเงิน 2,494 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 83,661 ล้านบาท ซึ่งโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการมาเลเซีย โครงการโอมาน แปลง 61 และโครงการซอติก้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ดำเนินการและการเริ่มต้นสัญญาแบ่งปันผลผลิตของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และจี 2/61 (แหล่งบงกช)

นอกจากนี้ บริษัทจัดสรรรายจ่ายลงทุนราว 457 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15,312 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต เน้น 3 โครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน โครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ (ระยะที่ 2) ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน

รวมทั้งจัดสรรงบรายจ่ายลงทุนที่เหลือเพื่อเร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากรรองรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เงินในการเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก


เร่งจัดพอร์ตการลงทุน

ขณะเดียวกัน บริษัทจะลดบทบาทการลงทุนในประเทศที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น การขายแหล่งมอนทาราประเทศออสเตรเลีย ยังคงเหลือโครงการแคช-เมเปิล โครงการมาเรียนาออยล์แซนด์ในแคนาดา ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ล่าสุด ปตท.สผ.ได้ขายการลงทุนทั้งหมดใน บริษัท Partex Brasil Ltda. และ บริษัท Partex Brasil Operações Petrolíferas Ltda.ในประเทศบราซิล นับเป็นการปิดฉากการลงทุนในบราซิลตามแผนการบริหารจัดการการลงทุน (Portfolio Rationalization) เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนของ ปตท.สผ.

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณทำให้ ปตท.สผ.ไม่สามารถติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผน ส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดผลิตก๊าซฯ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 ทำให้บริษัทต้องเพิ่มกำลังการผลิตในแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์เพื่อมาชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปได้บางส่วน และที่เหลือก็ต้องนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศแทน เบื้องต้นประเมินว่าแหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ในปี 2567

รวมทั้งความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นความท้าทายที่ ปตท.สผ.ต้องเผชิญและก้าวข้ามโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น